xs
xsm
sm
md
lg

SCGP เล็งลงทุนตั้ง รง.ในสหรัฐฯ ลดผลกระทบภาษี-ลั่น Q2 รายได้พุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” เร่งหาพันธมิตรร่วมลงทุนตั้งโรงงาน Rigid Packaging ในสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ รวมทั้งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง มั่นใจไตรมาส 2/68 โกยรายได้สูงกว่าไตรมาส 1/68 ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท
 
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Rigid Packaging) ในสหรัฐอเมริกา โดยจะหาพันธมิตรร่วมลงทุน คาดได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

เดิมบริษัทเคยมีแผนจะลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ อยู่แล้วในช่วงโควิด-19 แต่สุดท้ายไม่ได้ลงทุนเพราะมีต้นทุนสูงเกินไป จึงลงทุนทำคลังสินค้า (Warehouse) แทน


แต่จากนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัทตัดสินใจเตรียมเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน Rigid Packaging เพื่อลดผลกระทบด้านภาษีดังกล่าว

ปัจจุบัน SCGP มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ใน 3 levels คือ บริษัทส่งออกไปโดยตรง เช่น บรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ กระดาษถ่ายเอกสาร และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งในไตรมาส 1 ของปีนี้มีมูลค่าการส่งออก 1,275 ล้านบาท Level 2 คือ ส่งออกผ่านลูกค้า หมายถึง ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทแล้วส่งออก มีมูลค่า 966 ล้านบาท และ Level 3 ความเสี่ยงจากการชะลอตัวในตลาดโลกและจีน ซึ่ง SCGP ส่งออกไปจีนมีมูลค่า 2,029 ล้านบาท ดังนั้น SCGP ต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ขณะเดียวกันติดตามสถานการณ์ในช่วง 90 วันที่ชะลอการขึ้นภาษีว่าทรัมป์จะมีนโยบายอย่างไร

 SCGP ปรับกลยุทธ์การส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน เร่งหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน หากจีนไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ เชื่อว่าสินค้าจีนจะเทมาในภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เตรียมแผนการใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และการจ้างผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้ เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในยุโรปตะวันออก


นายวิชาญกล่าวว่า แนวโน้มรายได้บริษัทในไตรมาส 2/2568 คาดว่าเติบโตกว่าไตรมาส 1/2568 ที่มีรายได้จากการขาย 32,209 ล้านบาท มาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนช่วงไตรมาสที่ 2/2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ความต้องการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตจากนโยบายกระตุ้นภายในประเทศ โดยคาดว่า GDP จะเติบโตเฉลี่ย 2-7% ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่มสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้า ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล และค่าขนส่งมีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการในภูมิภาค ขณะที่ราคาขายในไทยทรงตัว เว้นอินโดนีเซียที่ปรับเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตด้วยการมุ่งเน้นขยายตลาดในอาเซียน รวมถึงการเพิ่มโอกาสใหม่ในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เพื่อนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร โดยได้ร่วมลงทุนในบริษัทโฮวะ แพ็คเกจจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 25 กับ Howa Sangyo Company Limited เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียก ด้วยกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนมิถุนายนปีนี้ และเดินหน้ากลยุทธ์การเติบโตในตลาด Healthcare Supplies ด้วยการผสานความร่วมมือกับ Once Medical Company Limited (Once) นำความเชี่ยวชาญมาผลิตหลอดฉีดยาและเข็มฉีดยาที่บริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด (VEM-TH) ในประเทศไทย ด้วยงบลงทุนประมาณ 142.3 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม ปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้ากระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยาของประเทศไทย และช่วยเพิ่มโอกาสการขายผ่านช่องทางของ Deltalab, S.L. ในประเทศสเปนด้วย

สำหรับผลประกอบการบริษัทในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 บริษัทมีรายได้จากการขาย 32,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มี EBITDA เท่ากับ 4,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น