xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เดินหน้าช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด “ลิ้นจี่นครพนม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 “ลิ้นจี่นครพนม” เดินหน้าช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ประสานนำขายในตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ท็อปส์มาร์เก็ต และเครือข่ายร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรมในจังหวัด คาดปีนี้สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 120 ล้านบาท

น.ส.นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้นำทีมงานลงพื้นที่แหล่งผลิตลิ้นจี่ เพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 “ลิ้นจี่นครพนม” ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของ จ.นครพนม เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้กับกลุ่มเกษตร โดยกรมได้ประสานกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โรงแรม และร้านอาหารในจังหวัด ให้ช่วยรับซื้อ และยังได้สนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย

สำหรับลิ้นจี่นครพนม เป็นลิ้นจี่ที่ไม่ต้องการอากาศหนาวเย็นมากนัก และด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขง มีดินอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ส่งผลให้ลิ้นจี่นครพนมมีลักษณะโดดเด่นเปลือกสีแดงอมชมพู ผลใหญ่ รูปทรงไข่ เนื้อผลแห้ง สีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด ซึ่งเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของลิ้นจี่นครพนมเท่านั้น และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตลิ้นจี่นครพนมจะมีประมาณ 1,000-1,200 ตัน และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดกว่า 120 ล้านบาท


ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจบริโภคลิ้นจี่นครพนม สามารถหาซื้อได้ที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ท็อปส์มาร์เก็ต และเครือข่ายร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโรงแรมใน จ.นครพนม เช่น ร้านชมนคร ร้านชีวาคาเฟ่ โรงแรมชีวาโขง และร้านเอสเคคาเฟ่ ที่ได้รับซื้อลิ้นจี่นครพนมไปใช้เป็นวัตถุดิบและแปรรูปต่างๆ เช่น เค้กลิ้นจี่ กาแฟลิ้นจี่ ลิ้นจี่โซดา เป็นต้น

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยสินค้า GI ตามนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล เพราะสินค้า GI เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของชุมชน มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่แหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ส่งผลให้สินค้ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวของท้องถิ่นนั้นๆ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนส่งเสริมสินค้า GI ในทุกมิติ ทั้งการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GI และสนับสนุนการขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ไทย ซึ่งล่าสุด มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 230 สินค้า มูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี










กำลังโหลดความคิดเห็น