xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์จับมือพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน เสริมแกร่งธุรกิจร้านอาหารไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือพันธมิตรภาครัฐและเอกชนจัด 7 กิจกรรมเสริมแกร่งผู้ประกอบการร้านอาหารของไทย ยกระดับธุรกิจร้านอาหารให้นักชิมได้ลิ้มรสอาหารไทยแท้ และช่วยบูม Soft Power อันดับหนึ่งของประเทศ เผยล่าสุดมีนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารทั้งประเทศ 24,555 ราย กรุงเทพฯ มากสุด ตามด้วยชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี รายได้รวมปี 66 สูงถึง 3.14 แสนล้านบาท กำไร 9.5 พันล้านบาท ส่วนปี 67 กำลังรวบรวมข้อมูล

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารไทยยังเติบโตได้ดี มีการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็น Soft Power อันดับ 1 ของประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รับรู้และรู้จักไปทั่วโลก กรมจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการร้านอาหารไทยให้สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านอาหารที่ได้มาตรฐาน และผลักดันให้ร้านอาหารเป็นแรงผลักดัน Soft Power ด้านอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะช่วยสร้างกระแสนิยมอาหารไทย และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

สำหรับกิจกรรมที่กรมจะทำงานร่วมกับพันธมิตรมีจำนวนทั้งสิ้น 7 กิจกรรม ได้แก่ 1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอย่างมืออาชีพให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ผ่านหลักสูตร Smart Restaurant Plus เพื่อให้ร้านอาหารมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร ทั้งการบริหารต้นทุน การเงิน ทรัพยากรบุคคล ด้านนวัตกรรม และการตลาด ให้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับมาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน จัดไปแล้ว 9 รุ่น ปัจจุบันมีร้านอาหารผ่านการพัฒนาจากกรมแล้ว 1,177 ราย

2. ยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพมาตรฐาน รสชาติอาหารไทยแท้ วัตถุดิบคุณภาพ บรรยากาศ และการบริการที่ดี ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญในการลงพื้นที่ตรวจประเมินและให้คำปรึกษาแนะนำ โดยปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT 496 ร้าน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยปี 2568 ตั้งเป้าเพิ่มร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT อีก 120 ร้าน ซึ่งขณะนี้ กำลังเปิดรับสมัครร้านอาหารไทยเข้ารับการตัดเลือกเพื่อได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยสามารถสมัครเข้ารับการประเมินเพื่อรับตราสัญลักษณ์ได้ตั้งแต่วันนี้-15 มิ.ย. 2568 ทาง www.dbd.go.th

3. กระตุ้นยอดขายเพิ่มรายได้ร้านอาหาร โดยกรมได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power อาหารไทย และขยายโอกาสแก่ร้านอาหาร Thai SELECT ได้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค กระตุ้นการจำหน่าย ผ่านการมอบโปรโมชันส่วนลด สิทธิประโยชน์ต่างๆ

4. ส่งเสริมช่องทางการตลาด ผ่านการจำหน่ายอาหารในงานเทศกาลอาหารต่างๆ และแพลตฟอร์มฟูดดีลิเวอรีชั้นนำ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร โดยนำร้านอาหาร Thai SELECT มาจัดแสดง (Showcase) ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อแสดงศักยภาพของอาหารไทย สร้างตัวตนให้ร้านอาหารกลายเป็นที่รู้จัก และส่งต่อร้านอาหาร Thai SELECT ให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง

5. เสริมสร้างการรับรู้ให้แก่ร้านอาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มาสัมผัสและลิ้มลองอาหารไทย

6. การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร โดยจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรองกับร้านอาหาร Thai SELECT ในพื้นที่ โดยได้นำร่องแล้ว 10 เส้นทาง เช่น จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นให้ครบทุกภูมิภาคต่อไป

7. สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ผลิตอุปกรณ์ ผู้จำหน่วยวัตถุดิบ ผู้ให้บริการเครื่องมือและระบบบริหารจัดการร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเพิ่มคู่ค้า และต่อยอดธุรกิจ

นางอรมนกล่าวว่า ณ วันที่ 31 มี.ค. 2568 ไทยมีนิติบุคคลดำเนินธุรกิจร้านอาหารอยู่ 24,555 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.44% (23,926 ราย) มีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดมากที่สุด 89.10% (21,879 ราย) ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด 10.86% (2,667 ราย) และบริษัทมหาชนจำกัด 0.04% (9 ราย) โดยจังหวัดที่มีการประกอบธุรกิจร้านอาหาร 5 อันดับแรกอยู่ในพื้นที่หัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9,710 ราย (39.54%) ชลบุรี 2,693 ราย (10.97%) ภูเก็ต 1,936 ราย (7.88%) เชียงใหม่ 1,504 ราย (6.13%) และสุราษฎร์ธานี 1,411 ราย (5.75%) ตามลำดับ ส่วนไตรมารแรกปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่ 973 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 339 ราย (34.84%) ชลบุรี 119 ราย (12.23%) เชียงใหม่ 77 ราย (7.91%) ภูเก็ต 62 ราย (6.37%) และสุราษฎร์ธานี 43 ราย (.4.42%)

โดยปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้รวม 244,577.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65,180.30 ล้านบาท หรือ 36.33% กำไร 3,386.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,050.56 ล้านบาท หรือ 135.05% และปี 2566 รายได้รวม 314,054.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69,477.49 ล้านบาท หรือ 28.41% กำไร 9,559.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,172.30 ล้านบาท หรือ 182.25% สำหรับปี 2567 ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการส่งงบการเงินของนิติบุคคล


กำลังโหลดความคิดเห็น