“คมนาคม” เผยหยุด 4 วัน “สงกรานต์68”เกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายรวม 905 ครั้งเสียชีวิต 107 คนบาดเจ็บ 880 คน ลดลงจากปีก่อน 8% ,16% ,18% ตามลำดับ ส่วนแผ่นดินไหวที่”กระบี่”ไม่มีผลกระทบ เที่ยวบินยัง ขึ้น - ลง ได้ตามปกติ
ทั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ เดินทางสู่จุดหมายปลายทางด้วยความสะดวกปลอดภัย นั้น ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งข้อมูลวันที่ 11 - 14 เมษายน 2568 (สะสม 4 วัน) ประมวลผลข้อมูล ณ วันที่ 15 เมษายน 2568 เวลา 07.30 น. พบว่า
การคมนาคมทางบก เกิดอุบัติเหตุรวม 905 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 107 คน ผู้บาดเจ็บ 880 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 568 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 62 ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ 478 คัน คิดเป็นร้อยละ 32 บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง ไม่มีความลาดชัน 594 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 65 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ สระแก้ว 9 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 51 ครั้ง
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2567 (วันที่ 11-14 เมษายน 2567) จำนวนอุบัติเหตุลดลง ร้อยละ 8 จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง ร้อยละ 16 และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลง ร้อยละ 18 ส่วนรถโดยสารสาธารณะ เกิดอุบัติเหตุ 4 ครั้ง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 2 คนไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิต ส่วนทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 14.27 น. จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ตำบลคลองเขม้า อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดแรงสั่นไหวในตึกอาคารหลายแห่ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเหนือคลอง และอำเภอเมืองกระบี่ เช่น ศาลากลางจังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ ท่าอากาศยานกระบี่ และหอควบคุมการจราจรทางอากาศกระบี่ รับรู้ถึงแรงสั่นไหวดังกล่าวเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการฯ เที่ยวบินยังสามารถขึ้น - ลง ได้ตามปกติ และหอควบคุมการจราจรทางอากาศกระบี่ ยังสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ โดยยังไม่พบความเสียหายเกิดขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนทางน้ำ เกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีผู้บาดเจ็บ ทางราง เกิดอุบัติเหตุ 3 ครั้ง ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีผู้บาดเจ็บ
สำหรับระบบขนส่งสาธารณะสามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ โดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ มีจำนวนรวม 10,081,757 คน ลดลง ร้อยละ 3.62 (เปรียบเทียบกับวันที่ 11 - 14 เมษายน 2567) โดยระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 44.42
ด้านระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1) ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 200,618 คน 2) ภาคใต้ : ทางถนน 122,081 คน 3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ทางถนน 153,413 คน 4) ภาคเหนือ : ทางถนน 64,503 คน 5) ภาคตะวันออก : ทางถนน 68,308 คน ส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ (ถนน ราง น้ำ อากาศ) มีจำนวนรวม 952,244 คน
การจราจรเข้า - ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 11 เส้นทาง มีปริมาณ 4,007,418 คัน ลดลง ร้อยละ 0.12 (เปรียบเทียบกับวันที่ 11-14 เมษายน 2567) การเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วน (กทพ.) มีปริมาณ 5,366,116 คัน ลดลงร้อยละ 0.56
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบให้หน่วยงานในสังกัด ตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 222 แห่ง ตรวจรถ 57,984 คัน ซึ่งไม่พบข้อบกพร่อง ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 57,984 คน พบอุณหภูมิเกิน (เป็นไข้) และความดันสูงเกินปกติ สั่งเปลี่ยน 2 คน ไม่พบสารเสพติด และแอลกอฮอล์ ด้านรถไฟ ได้ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 613 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติด ส่วนท่าเรือ/แพ จำนวน 159 แห่ง ตรวจเรือ 4,126 ลำ พบข้อบกพร่อง สั่งแก้ไข 8 ลำ และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 5,833 คน ไม่พบแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด
นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะแล้ว 14,205 คัน ตรวจความพร้อมพนักงานขับรถ 14,205 ราย ส่วนผลการติดตามตรวจสอบการเดินรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกด้วยระบบ GPS Tracking 46,858 คัน พบการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด 178 คัน ผลตรวจสอบการใช้ความเร็วรถโดยสารและรถบรรทุกด้วยกล้องเลเซอร์ 2,252 คัน พบการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด 8 คัน สำหรับการร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 22 เรื่อง โดยเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ขับรถประมาท/น่าหวาดเสียว ผู้ประจำรถแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ แต่งกายไม่เรียบร้อย และบรรทุกผู้โดยสารเกิน ซึ่ง ขบ. จะเร่งติดตามผู้กระทำผิดมาสอบสวนและดำเนินการลงโทษตามกฎหมายต่อไป
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ประสานผู้ให้บริการเพิ่มช่องทางจำหน่ายบัตร เหรียญโดยสารเพิ่มเติมในสถานีที่มีประชาชนหนาแน่น พร้อมทั้งจัดเตรียมถัง ภาชนะ รองรับน้ำจากอุปกรณ์ฉีดน้ำ ขันน้ำ ก่อนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า และเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดทั้งบนสถานีและบนขบวนรถ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเทน้ำจากกระบอกปืนฉีดน้ำใส่ลงในถังที่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าจัดเตรียมไว้รองรับ และงดปะแป้งดินสอพองบนขบวนรถไฟฟ้า
โดยได้ประสานผู้ให้บริการระบบรางต่าง ๆ กวดขันและเน้นย้ำการดำเนินงานตามแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้า เพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยในขบวนรถไฟ รถไฟฟ้า รวมทั้งบริเวณพื้นที่สถานี จุดตัดทางลักผ่านโดยมีการประสานงานกับพนักงาน รฟท. ขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนน ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยหยุดรถก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงขับผ่าน และไม่ฝ่าฝืนสัญญาณหรือเครื่องกั้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟ