การขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงินลงทุน 341,351.42 ล้านบาท กำลังจะกลายเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์แห่งปี 2568 เมื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระบวนการประกวดราคาจะเริ่มได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ หรือ ประมาณเดือนมิ.ย. 2568 โดยขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) โดยโครงการในเฟส 2 นี้ มีค่างานก่อสร้างโยธา 237,454.86 ล้านบาท ซึ่งไทยจะดำเนินการเองทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมงาน
ส่วนกรณีที่จีนเสนอขอเข้ามาตรวจสอบแบบก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกับโครงการในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ก่อนหน้านี้ พร้อมกับเสนอค่าใช้จ่าย 300 ล้านบาท ซึ่งไทยได้พยายามเจรจาต่อรองลงมาอยู่ที่ 250 ล้านบาทนั้น ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 32(Joint Committee หรือ JC) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ฝ่ายจีนยอมถอนข้อเสนอที่จะไม่เข้ามาตรวจสอบแบบก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 แล้ว
@จีนถอยตรวจแบบเฟส 2 “ไทยลุยสร้างเอง คุมงานเอง”
นายสุริยะกล่าวว่า เรื่องนี้ได้ยืนยันกับจีนว่า ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญ และมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการออกแบบ รวมถึงมีประเด็นที่รฟท.ยังหางบประมาณเพิ่มเติม นำมาจ่ายค่าตรวจแบบให้จีนไม่ได้ สุดท้ายจึงตกลงกันว่าไม่จำเป็นที่ทางจีนจะเข้ามาตรวจแบบ ดังนั้นโครงการในระยะที่ 2 ที่ฝ่ายไทยได้มีการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ไทยจะดำเนินการก่อสร้างและควบคุมงานการก่อสร้างเองทั้งหมด
“การที่ฝ่ายจีนยอมล้มเลิก เข้ามาตรวจสอบแบบของเฟส 2 ไม่ได้มาจากกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่บริษัทผู้รับเหมาจีนก่อสร้างเกิดถล่มช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 แต่อย่างใด”นายสุริยะกล่าว
@ไม่ปิดกั้นรับเหมาจีน แต่เช็คเข้ม”นอมินี”หวั่นซ้ำรอยตึกสตง.
รายงานข่าวแจ้งว่า การก่อสร้างงานโยธา รถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งขณะนี้ รฟท.เตรียมตั้งคณะกรรมการร่าง TOR โดยจะใช้ผู้รับเหมาสัญชาติไทย เหมือนกับการประมูลก่อสร้างโครงการเฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ส่วน กรณีผู้รับเหมาจีนที่จดทะเบียนโดยมีคนไทยถือหุ้น หากเป็นไปตามระเบียบสามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ และเกิดปัญหา นอมินี ซ้ำรอยกรณีก่อสร้างตึกสตง.
ส่วนวัสดุก่อสร้างจะใช้ภายในประเทศเกือบ 100% ซึ่งจะมีการตรวจสอบมาตรฐานทั้งระบบอย่างเข้มข้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้เป็นรถไฟความเร็งสูงมาตรฐานเทคโนโลยีจีน ทำให้ ยังคงต้องนำเข้าวัสดุจากประเทศจีน 2 รายการ ได้แก่ ผ้าใบกันความชื้น และสายดิน ซึ่งคิดเป็น 2% ของมูลค่าก่อสร้างรวมทั้งหมด
@บิ๊กรับเหมาเตรียมชิงเค้ก 2.3 แสนล้านบาท คาดแบ่ง 7 สัญญา
โครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. มูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 341,351.42 ล้านบาท โดยมีงบประมาณสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 12,418.61 ล้านบาท ค่างานก่อสร้างโยธา 237,454.86 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้างโยธา 6,530.01 ล้านบาท ส่วนงานระบบ ตัวรถ บริหารการเดินรถมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาทหรือประมาณ 23% ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
ซึ่งการก่อสร้างในเฟส 2 “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” มีนโยบายชัดเจนว่า จะแบ่งสัญญาก่อสร้างไม่มากเกินไป เนื่องจากเห็นว่า การแบ่งย่อย ถึง 14 สัญญาของโครงการในเฟสแรก เป็นสาเหตุทำให้งานก่อสร้าง ล่าช้าอย่างมาก
โดยคาดว่า งานก่อสร้างโยธามูลค่า 237,454.86 ล้านบาท จะมีการแบ่งออกเป็น 7 สัญญา มีมูลค่าเฉลี่ยสัญญาละประมาณ 38,000 ล้านบาท ส่วนงานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ที่จะมีการอัพเกรดระบบรองรับการเดินรถ จากกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย คาดจะมีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท
“มีการถอดบทเรียนปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างเฟสที่ 1 จึงเชื่อว่าโครงการเฟสที่ 2 จะได้ผู้รับเหมารายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้งานเป็นไปตามกำหนดไม่ล่าช้าเหมือนโครงการในเฟส 1 แน่นอน”
ตามการศึกษาเดิม มีการวางแผนงานก่อสร้างเส้นทางในเฟส 2 แบ่งงานโยธาออกเป็น 11 สัญญา ทำให้แต่ละสัญญาจะมีมูลค่าเฉลี่ยราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่เฟสแรกแบ่ง 14 สัญญา แต่ละสัญญามูลค่างานหลักพันล้าน ที่มากสุดก็อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
@ เฟส 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา 7 ปี สร้างคืบหน้า 42 %
รถไฟความเร็วสูง สายแรกของไทย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มต้นพิธีตอกเข็ม เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 โครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. มีวงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท
แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ณ เดือน มี.ค.2568 ภาพรวมมีความคืบหน้า 42.914 % ล่าช้า 11.025 %(แผนงาน 53.939%) โดยก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 (กลางดง – ปางอโศก) ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 362 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกรมทางหลวง และ สัญญา 2-1 (สีคิ้ว-กุดจิด) ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114 ล้านบาท มีบจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริง เป็นผู้รับจ้าง
อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. มีกิจการร่วมค้า ITD เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 9,348.99 ล้านบาท ผลงานสะสม 8.150 % ล่าช้า 15.630 % (แผนงาน 23.780%)
สัญญา 3-2 ช่วงอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการผู้รับจ้าง วงเงิน 4,279 ล้านบาท ผลงานสะสม 89.870% ล่าช้า 8.950% (แผนงาน 98.820%)
สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กม. มี บจ.ไทย เอ็นจิเนียร์และอุตสาหกรรมเป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 9,838 ล้านบาท ผลงานสะสม 57.380 % ล่าช้า 27.410 % (แผนงาน 84.790 %)
สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โครกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 9,848 ล้านบาท ผลงานสะสม 91.510 % ล่าช้า 8.040%(แผนงาน 99.550%)
สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกิจการร่วมค้า SPTK จำกัด เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 7,750 ล้านบาท ผลงานสะสม 12.622 % ล่าช้า 0.978 %(แผนงาน 13.600%) ล่าสุด มีการปรับแบบการก่อสร้างจากการยกระดับแบบคันดินเป็นการยกระดับแบบตอม่อ โดย บอร์ด รฟท. และคณะกรรมการบริหารการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม.เห็นชอบปรับกรอบวงเงิน
สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 10,570 ล้านบาท ผลงานสะสม 3.108 % ล่าช้า 2.812%(แผนงาน 5.920 %)
สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23.00 กม. มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่นฯ, บจ.เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 11,525 ล้านบาท ผลงานสะสม 53.020 % ล่าช้า 2.340 %(แผนงาน 55.360%)
สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มีบมจ.อิตาเลียนไทย เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 6,573 ล้านบาท ผลงานสะสม 39.063% ล่าช้า 7.107 %(แผนงาน 46.170%)
สัญญา 4-6 ช่วง พระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 8,560 ล้านบาท ผลงานสะสม 10.310 % ล่าช้า 6.360 %(แผนงาน 16.670%)
สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 8,560 ล้านบาท ผลงานสะสม 63.690% ล่าช้า 35.160 %(แผนงาน 98.850%)
@ยังไม่ได้เริ่มงาน 2 สัญญา”ทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน-มรดกโลกสถานีอยุธยา”
ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. เป็นช่วงที่มีเขตทางจำกัด จึงต้องใช้ โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งอยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนมิ.ย.และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2568
สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท ยังไม่ได้ลงนามสัญญา เนื่องจากมีประเด็นผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก รฟท. ได้จัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) และปรับแบบสถานีรถไฟอยุธยาโดยลดขนาดอาคาร ปรับลดระดับหลังคา และกำหนดระยะห่าง 2.5 เมตรระหว่างสถานีเดิมกับสถานีรถไฟความเร็วสูง ตามความเห็นผู้เชี่ยวชาญ UNESCO ปัจจุบันรอความเห็นอย่างเป็นทางการของผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าจะมีการพิจารณารายงาน HIA ของคณะกรรมการมรดกโลกในช่วง ก.ค .2568
นอกจากนี้ โครงการในเฟส 1 ยังมี งานสัญญา 2.3 งานออกแบบ จัดหา ติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633 ล้านบาท ลงนามสัญญาแล้วเมื่อ 28 ต.ค. 2563 เริ่มงานออกแบบวันที่ 22 ธ.ค. 2563 ผลงานสะสม 0.951 % ล่าช้า 80.940 % (แผนงาน 81.890 %) ล่าสุด ฝ่ายจีนจัดทำร่างออกแบบงานระบบเสร็จแล้ว เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตรถ
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯรฟท. กล่าวว่า จะเร่งรัดการก่อสร้างโครงการ เฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งจากการเช็คแผนก่อสร้างที่เหลือ คาดว่า จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า
ซึ่งเลื่อนจากแผนงานเดิมที่ เฟส 1 จะเปิดให้บริการในปี 2571 ส่วนโครงการ เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะเริ่มก่อสร้างปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าใช้เวลา 5 ปีครึ่ง คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2573
ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานเดิมห่างประมาณ 30 เมตร จะมีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร และทางขนาด 1 เมตร โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 รฟท.ได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงิน 119,946,221 บาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. 2568 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA โดยจะมีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อตกลงเรื่องการก่อสร้างคู่ขนานไปด้วย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 3 ปี 2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือนแล้วเสร็จ และเปิดบริการในปี 2572
หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รถไฟไทย-จีน เฟส 2 ที่มีวงเงินค่าก่อสร้างรวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท จะเปิดประมูลกลางปีนี้ โดยเน้นผู้รับเหมารายใหญ่ มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นโครงการรัฐที่เข้ามาฟื้นความเชื่อมั่นในช่วงอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย…สั่นคลอน!