นับตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2568 เป็นต้นไป ตั้งแต่เวลา 00.01 น. (เวลาสหรัฐฯ) สหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ตามอัตราเฉพาะที่กำหนดสำหรับแต่ละประเทศ ซึ่งไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% โดยจะเก็บเพิ่มจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่แล้ว (MFN apply rate) รวมทั้งอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ประเทศนั้นถูกจัดเก็บอยู่เดิม นั่นหมายความว่า สินค้าไทยโดนภาษี 36% แล้ว ทุกชนิดสินค้า ไม่มียกเว้น แต่จะยกเว้นให้สำหรับสินค้าที่ขนลงเรือหรือยานพาหนะแล้ว และอยู่ระหว่างเดินทางมายังสหรัฐฯ ก่อนเวลาดังกล่าว
โดยอัตราภาษีต่างตอบแทนข้างต้น จะไม่ใช้กับสินค้าที่สหรัฐฯ ได้เคยประกาศใช้มาตรการไปก่อนหน้านี้ คือ วันที่ 12 มี.ค.2568 สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ถูกจัดเก็บอัตราภาษีเฉพาะที่ 25% และวันที่ 3 เม.ย.2568 สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน ถูกจัดเก็บอัตราภาษีเฉพาะที่ 25% และภาษีต่างตอบแทนดังกล่าว ยังจะไม่ใช้กับสินค้าประเภททองแดง ยาและเวชภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป แร่ธาตุสำคัญบางประเภท พลังงานและผลิตภัณฑ์พลังงาน เนื่องจากสหรัฐฯ อาจจะมีการประกาศใช้ภาษีเฉพาะกับสินค้าดังกล่าวในภายหลัง คาดว่าจะเก็บเพิ่มในอัตรา 25%
สินค้าส่งออก 1.91 ล้านล้านสะเทือน
สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 54,956.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.66% หากคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่าประมาณ 1.91 ล้านล้านบาท (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยในจำนวนนี้ สินค้าส่งออก 20 รายการแรก มีมูลค่าสูงถึง 42,411.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.32% และสินค้าอื่น ๆ อีก 12,544.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.48%
ทั้งนี้ หากการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแก้ปมภาษี 36% ไม่ประสบผลสำเร็จ การส่งออกสินค้าไทย ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.91 ล้านล้านบาท มีโอกาสที่จะกระทบกระเทือนอย่างแน่นอน
รัฐบาลเตรียมพร้อมเจรจา
อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลไทย ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ก่อนที่จะประชุม นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว ระบุว่า การวางยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day ต้อง “รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ” ซึ่งการประชุมจะเป็นการติดตามสถานการณ์ กำหนดก้าวต่อไปอย่างรอบคอบและแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทย โดยประเมินว่า การเจรจา ไม่น่าจะจบในครั้งเดียว อาจต้องใช้เวลา และเจรจาในหลายระดับ แต่รัฐบาล จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในระยะสั้น และเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการหาตลาดใหม่ทดแทน
ตั้ง “พิชัย ชุณหวชิร” หัวหน้าทีม
น.ส.แพทองธาร ระบุอีกว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 เม.ย.2568 ได้มีการมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจากับทางสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ร่วมคณะเจรจา โดยมีการประสานนัดหมาย เพื่อทำการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และหน่วยงานอื่น ๆ ของอเมริกา เพื่อนำเอาข้อเสนอของไทยไปพูดคุยแล้ว
กำหนด 5 แนวทางเจรจาสหรัฐฯ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมที่จะเดินทางไปเจรจา กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำต่อจากนี้ คือ พิจารณาว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาภาษีที่ไทยจะต้องได้รับประโยชน์ และขอให้มั่นใจว่าวิธีการแก้ไขปัญหาจะเป็นผลดีของทั้งสองฝ่าย เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยกระดับการทำงานและการผลิตของไทย โดยยอมรับว่าเป็นวิกฤติที่น่าหนักใจ แต่ก็ยังมีโอกาสในการยกระดับการค้าของไทยให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยไม่ได้เป็นการลดภาษีให้กับสหรัฐฯ แต่จะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าไทยน้อยลง คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี ในการปรับสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากถึง 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
โดยแนวทางในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องภาษี มีแนวทาง 5 แผนงาน ได้แก่ 1.นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเน้นสินค้าที่ไทยมีความต้องการใช้ในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร เครื่องในสุกร รวมทั้งสินค้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ที่มีต้นทุนต่ำในสหรัฐฯ 2.ลดหรือยกเว้นภาษีให้กับสินค้าสหรัฐฯ ที่ไทยเก็บภาษีได้ไม่สูงนัก โดยมีการจัดเก็บรายได้ต่อปีไม่มากนักอยู่แล้ว กว่า 100 รายการ 3.ยกเลิกมาตรการที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับสหรัฐฯ มากขึ้น 4.การให้ความสำคัญกับการกำกับการมาใช้ไทยเป็นแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าจากไทยและส่งออกไปยังสหรัฐฯ และ 5.การสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพให้ไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ภาคเกษตร ภาคพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนในเรื่องนี้
เปิดโพยรายละเอียดการเจรจา
สำหรับรายละเอียดการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหาสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทย ไทยจะเพิ่มการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อและเครื่องใน สุรา ซึ่งในส่วนของสินค้าเกษตร ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ไทยผลิตได้ไม่เพียงพออยู่แล้ว การนำเข้า จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ต้นทุนการผลิตจะลดลง แต่จะกระทบต่อสินค้าที่เพาะปลูกในประเทศ ทำให้ราคาปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐ จะต้องพิจารณา และหามาตรการในการดูแล
ส่วนการเพิ่มการนำเข้าเนื้อสัตว์ เศษเนื้อและเครื่องใน โดยเฉพาะสินค้าสุกร เดิมเป็นสินค้าที่ไทยห้ามนำเข้าจากสหรัฐฯ เพราะมีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นต้องห้ามในไทยและเป็นอันตรายต่อการบริโภค แต่สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดมาอย่างช้านาน และหากจะมีการเปิดตลาดในการเจรจารอบนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสุกรของไทย ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้ผลิต ผู้ขาย และกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมเกษตรอื่น ๆ ทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง โรงงานแปรรูป เครือข่ายค้าปลีก ที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด
ขณะที่การซื้อสินค้าอื่น ๆ มีข้อเสนอให้เช่าหรือซื้อเครื่องบินจากสหรัฐฯ โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพราะการบินไทยมีแผนในการเพิ่มฝูงบินอยู่แล้ว ก็ให้พิจารณาซื้อเครื่องบินโบอิ้งจากสหรัฐฯ และการซื้อพลังงาน ก็ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพราะเป็นสินค้าที่ไทยต้องใช้อยู่แล้ว รวมไปถึงการขยายการลงทุนไปยังสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานแล้ว ก็ต้องเพิ่มต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ไทยต่อสัมปทานปิโตรเลียมให้กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นเวลานาน และสัญญาสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งไพลิน กับแหล่งเบญจมาศ กำลังจะหมดอายุลงอีกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังจากที่แหล่งเอราวัณ แหล่งปลาทอง แหล่งสตูล และแหล่งฟูนาน ได้หมดอายุสัมปทานไปแล้ว และมีการส่งมอบให้กับ ปตท. ไปแล้ว ซึ่งก็ต้องจับตาว่า จะเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขในการเจรจาเพื่อแก้ปมภาษีครั้งนี้หรือไม่
ยันกำกับดูแลการแอบอ้างถิ่นกำเนิด
ขณะที่ข้อกังวลของสหรัฐฯ กรณีสินค้าที่จะมีการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย แล้วส่งออกไปสหรัฐฯ นั้น ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้ว โดยได้มีการติดตามเฝ้าระวังการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการของสหรัฐฯ จากประเทศอื่น ๆ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ ว่าสินค้าที่ส่งออกมีถิ่นกำเนิดไทยจริง โดยกำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ จำนวน 49 รายการ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล้อเหล็กสำหรับรถบรรทุก แผ่นหินเทียม และท่อเหล็ก เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนขอรับหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวัง โดยได้ดำเนินการติดตามรายการสินค้าจากมาตรการ 232 เพิ่มเติม เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้นด้วย
เอกชนชงขอมีทีมเดียวนายกฯ ประธาน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาษีที่สหรัฐฯ ขึ้นกับไทย 36% กระเทือนผู้ส่งออกทั้งหมด มีคำถามว่าใครจะรับผิดชอบภาษีตรงนี้ ผู้นำเข้าเสนอมาว่าให้หาร 2 จึงบอกไปว่าคุณเอาอะไรมาคิด มาร์จิ้นไม่ได้มากขนาดนั้น มันเป็นปัญหาของประเทศคุณ ประธานาธิบดีคุณ จะมาโยนภาระไม่ได้ พอเป็นแบบนี้ ทุกอย่างก็ชะงักกันหมด มันไม่ได้เป็นแค่กับไทย แต่เป็นกับทั้งโลก ถ้ามันยังค้าขายกันไม่ได้ เศรษฐกิจในประเทศก็แย่ เศรษฐกิจโลกก็จะแย่ตาม เป็นกันหมด แบบนี้ลำบาก
โดยข้อเสนอของภาคเอกชนต่อทีมเจรจา ต้องไปดูว่า ไทยเก็บภาษีกับสหรัฐฯ มากเกินไปหรือไม่ อันไหนลดลงได้ ก็ลดไปเลย มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ที่มีอยู่ มีอะไรบ้าง ก็ต้องแก้ไขไป เรื่องการนำเข้าสินค้าเพิ่ม ก็ต้องดูรายการที่สหรัฐฯ ต้องการ ไม่ใช่เสนอรายการที่เขาไม่สนใจ แบบนี้ไม่มีน้ำหนัก เสนอไปก็เปล่าประโยชน์ โดยสินค้าที่สหรัฐฯ ต้องการ เขามีลิสต์ให้มาอยู่แล้ว เช่น สินค้าเกษตร พลังงาน อาวุธ เป็นต้น และยังต้องดูเรื่องการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งต้องชมกระทรวงพาณิชย์ที่มีการดำเนินการแล้ว
ส่วนทีมแก้ไขปัญหา เอกชนเสนอให้มีทีมเดียว มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะจะได้สั่งการได้ครบทุกกระทรวง ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่แก้ได้โดยกระทรวงเดียว มันมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คลัง เกษตร พาณิชย์ ต่างประเทศ และอีกหลายกระทรวง และขอให้มีเอกชนอยู่ในทีมนี้ด้วย ซึ่งได้เสนอไปนานแล้ว วันนี้ก็ยังจะเสนอแบบนี้ แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายก็มีแค่คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ส่วนทีมอื่น ๆ ขอให้ตั้งเป็นอนุกรรมการไปดูแต่ละเรื่องก็ได้ จะแยกเป็นกี่ชุด ก็แยกไป
สำหรับสิ่งที่ภาคเอกชนกำลังเจออยู่ และเป็นปัญหามาก ก็คือ ตอนนี้ไม่รู้จะทำยัง ขายกันยังไง สต๊อกที่มีอยู่จะทำยังไง เป็นแบบนี้ไปกันหมดทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทย ก็ต้องรอดูว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาขึ้นภาษี สหรัฐฯ จะเอายังไง ถ้าเดินหน้า 36% สำหรับไทย การส่งออกกระทบแน่ จะขายสหรัฐฯ ไม่ได้ ส่วนสินค้าที่ขึ้นเรือไปแล้ว ไม่กระทบ แต่ถ้ามีการชะลอการขึ้นภาษี ก็ยังมีเวลาหายใจ มีเวลาให้เจรจา การส่งออกก็ยังไม่กระทบ ซึ่งวันนี้ก็รู้แล้ว จะเป็นยังไง