เงินเฟ้อ มี.ค. 68 เพิ่ม 0.84% บวกต่อเนื่อง 12 เดือนติด จากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และราคาดีเซล ค่าเช่าบ้าน รวม 3 เดือนเพิ่ม 1.08% คาดไตรมาส 2 สูงขึ้นแบบชะลอตัวลง เตรียมปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี 68 ใหม่ นำผลกระทบทรัมป์ขึ้นภาษีมารวม หากมีความชัดเจนคาดประกาศได้ต้น พ.ค.นี้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มี.ค. 2568 เท่ากับ 100.35 เทียบกับ มี.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 0.84% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้านเป็นสำคัญ ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 3 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 1.08%
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 0.84% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.35% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มผลไม้สด (ทุเรียน ฝรั่ง สับปะรด มะพร้าวอ่อน) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำพริกแกง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทราย) แต่มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง เช่น ผักสดบางชนิด (มะนาว พริกสด ผักกาดขาว ขิง ผักชี ต้นหอม มะเขือ ขึ้นฉ่าย) ไข่ไก่ ไก่ย่าง ผลไม้บางชนิด (องุ่น มะละกอสุก) และอาหารโทร.สั่ง (Delivery)
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 0.18% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยารีดผ้า) เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษและสตรี) โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน มี.ค. 2568 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.86% ชะลอตัวลงจากเดือน ก.พ. 2568 ที่สูงขึ้น 0.99% และรวม 3 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 0.89%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2568 โดยไตรมาส 1 เงินเฟ้อเฉลี่ย 1.08% ไตรมาส 2 คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 0.14-0.15% มีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง จากการที่ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง ฐานราคาผักสดและไข่ไก่ในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลก โดยราคาในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น จากวัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช และอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน ราคายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบบางชนิดที่สูงขึ้น รวมถึงมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบในบางสินค้า ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดและความชัดเจนอีกครั้ง แต่เบื้องต้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าที่กระทบ อาทิ น้ำมัน หรือสินค้าที่มีการเจรจาให้นำเข้าจากสหรัฐฯ อีกกลุ่มภาคบริการ ไม่กระทบ ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำประปา บริการศึกษา แต่จะนำปัจจัยทั้งหมด มาพิจารณา และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2568 ใหม่ น่าจะเป็นช่วงต้นเดือน พ.ค. 2568 ช่วงเดียวกับที่แถลงเงินเฟ้อประจำเดือน