xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เกินคาด สหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย 37% ยันมีแผนเจรจา หวังต่อรองได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” ยอมรับเกินคาด สหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย 37% ย้ำไม่ต้องห่วง มีแผนเตรียมเจรจากับสหรัฐฯ ไว้แล้ว หวังจะต่อรองได้ รอแค่ว่าจะรับนัดเมื่อไร “วุฒิไกร” กางแผนเจรจา พร้อมลดภาษีนำเข้า เพิ่มนำเข้าสินค้า และลดอุปสรรคการค้า ประเมินเบื้องต้น เสียหายหนักแน่หากไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเจรจาสำเร็จอาจไม่กระทบหรือกระทบลดลง คาดทำให้การเจรจา FTA เสร็จเร็วขึ้น ส่วนสินค้ามุ่งมาไทยมีแผนรับมือแล้ว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทยและประเทศคู่ค้าต่างๆ ว่า รู้สึกตกใจที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีไทยในอัตราสูงมาก เกินกว่าความคาดหมาย โดยที่มาสหรัฐฯ ได้คำนวณจากอัตราภาษีที่คู่ค้าเก็บจากสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เก็บจากคู่ค้า รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งของไทยคำนวณได้ 72% และหาร 2 เท่ากับ 36% แต่ไม่ต้องห่วง เพราะไทยมีคณะทำงานที่เตรียมความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐฯ ไว้แล้ว และมีความหวังว่าจะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงได้ โดยไทยพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ ตลอดเวลา รอแค่ว่าสหรัฐฯ จะรับนัดเมื่อไร

“การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แม้แต่เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย ที่ไปหารือกับสหรัฐฯ มาแล้วก็ยังโดน แต่ไทยจะพยายามอย่างเต็มที่เจรจาให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงมาให้ได้ ตอนนี้มีข้อมูลเจรจาไว้หมดแล้ว และมีความหวังว่าจะสำเร็จ เพราะไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนการปรับขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 3% หรือไม่ ขณะนี้ยังบอกไม่ได้” นายพิชัยกล่าว


นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ถือว่าเกินความคาดหมายสำหรับไทย โดยอัตราภาษีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเอกสารตอนแถลงข่าวอยู่ที่ 36% แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหารอยู่ที่ 37% แต่ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. 2568 ยังมีเวลาที่ไทยจะเจรจาต่อรองได้ โดยไทยพร้อมที่จะเจรจาทุกเมื่อ รอเพียงให้สหรัฐฯ รับนัดมา ถ้าเดินทางไปไม่ทัน ก็จะมีทีมไทยแลนด์ ที่เป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอชิงตัน ดี.ซี. เป็นหัวหน้าคณะ แต่หากมีเวลาเดินทางไป รมว.พาณิชย์จะเป็นหัวหน้าคณะไปเจรจาเอง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 11% จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ 7,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 1 ปี แต่ขณะนี้ภาษีสูงถึง 37% ก็อาจเสียหายมากกว่านี้ หากไทยไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเจรจาต่อรองแล้วเป็นผลสำเร็จก็อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่ ต้องคำนวณอีกครั้ง

สำหรับแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ 1. ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าบางรายการให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่นำเข้าจากแหล่งอื่น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐฯ 2. เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐฯ 3. ลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐฯ โดยมั่นใจว่าจะเจรจาต่องรองกับสหรัฐฯ ได้ ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จะทำทุกมิติ ทั้งการค้าบริการที่สหรัฐฯ ได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน การเป็นพันธมิตรที่ดี และหากให้คะแนนความสำเร็จ ถ้าได้เจรจากัน น่าจะได้ถึง 7-9 เต็ม 10

นายวุฒิไกรกล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูง โดยสินค้า 15 อันดับแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มาก ได้แก่ 1. โทรศัพท์มือถือ 2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3. ยางรถยนต์ 4. เซมิคอนดักเตอร์ 5. หม้อแปลงไฟฟ้า 6. ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7. ชิ้นส่วนรถยนต์ 8. อัญมณี 9. เครื่องปรับอากาศ 10. กล้องถ่ายรูป 11. เครื่องพรินเตอร์ 12. วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13. แผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ 14. ข้าว และ 15. ตู้เย็น

ส่วนการพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะมีการหารือกับนายพิชัย ชุณหชวิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น อาจจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะตัวเลขพวกนี้ มีข้อมูล มีสถิติชัดเจนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ คาดว่าผลจากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีประเทศคู่ค้าต่างๆ จะทำให้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยเจรจากับประเทศต่างๆ มีความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น ทั้งกรอบไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-เกาหลีใต้ และอาเซียน-แคนาดา

ทางด้านประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจมีสินค้าจากหลายประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ และหันมาส่งออกเข้ามาไทยและอาเซียนแทนนั้น กระทรวงพาณิชย์ มีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งทำงานล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น มีการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ลดลง มีตัวเลขการปราบปรามสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น มูลค่าความเสียหายของสินค้าไร้มาตรฐานที่จับกุมได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีมาตรการที่จะใช้ดำเนินการกับสินค้านำเข้า ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอซี) รวมถึงได้ขึ้นบัญชีสินค้าเสี่ยงที่จะสวมสิทธิ์ประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 49 รายการไว้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น