xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ถกรถไฟไทย-จีนเฟส 2 ยันมาตรฐานไทยออกแบบ-ก่อสร้างเอง เบรกจ้างจีน ปีนี้เปิดประมูล e-bidding

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะ กก.ร่วมรถไฟ “ไทย-จีน” ประชุมครั้งที่ 32 จีนยอมยกเลิกตรวจแบบเฟส 2 “สุริยะ” ชี้ไม่เกี่ยวปมตึก สตง.ถล่ม ลั่นไทยมีมาตรฐานสากล ลุยประมูล e-bidding ปีนี้ใช้ผู้รับเหมาไทย-วัสดุในประเทศเกือบ 100% สั่ง รฟท.-ขร.เข้มมาตรฐานสูงสุด ส่วนเฟส 1 กรุงเทพฯ-โคราช โครงสร้างแข็งแรงใช้เหล็ก “ทาทา สตีล” รอผลสอบเหล็ก 2 วัน แต่ยอมรับก่อสร้างล่าช้า คาดเปิดปี 72
 
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 32 (Joint Committee หรือ JC) วันที่ 2 เม.ย. 2568 ว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 (เฟส 2) ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 341,351.42 ล้านบาท โดยขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน จากนั้นจะเริ่มกระบวนการประกวดราคา และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2568 นี้ ซึ่งเส้นทางนี้มีความสำคัญ เนื่องจากจะรองรับการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อระหว่างไทย จากจังหวัดหนองคาย-สปป.ลาว-จีน ส่วนการขนส่งสินค้าหนัก จะใช้ระบบรถไฟทางคู่ไปยังหนองคายได้ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาค

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางจีนต้องการเข้ามาตรวจสอบแบบก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกับโครงการในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจีนเสนอค่าใช้จ่ายในการตรวจแบบ ที่วงเงิน 300 ล้านบาท และล่าสุดเจรจาต่อรองอยู่ที่ 250 ล้านบาทนั้น นายสุริยะกล่าวว่า วันนี้ได้พูดคุยเรื่องนี้และไทยยืนยันกับจีนว่าประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญ และมีความเชื่อมั่นในการออกแบบมีมาตรฐาน ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ฝ่ายไทยมีการออกแบบเองเสร็จแล้วนั้น จะดำเนินการตรวจแบบและควบคุมงานการก่อสร้างเอง

ส่วนวัสดุก่อสร้างจะใช้ภายในประเทศเกือบ 100% โดยจะมีการตรวจสอบทั้งระบบอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นในความสามารถของวิศวกรไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และฝ่ายจีนยอมรับได้ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กำกับติดตามอย่างเข้มงวดให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย


@ชี้ไทยมีมาตรฐาน ไม่เกี่ยวปมตึก สตง.ทำจีนยอมเลิกขอตรวจแบบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่จีนยอมตกลงง่ายเป็นเพราะกรณีบริษัทจีนก่อสร้างตึกของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้วเกิดถล่ม จนทำให้กระทบต่อเครดิตของจีนในขณะนี้ใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า เรื่องที่เกิดกับตึก สตง.ไม่น่าเกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีจีนขอเข้ามาตรวจแบบของโครงการระยะที่ 2 เรื่องนี้ได้บอกทาง รฟท.ไปเจรจาแล้วว่าการออกแบบของไทยมีมาตรฐานอยู่แล้ว และไทยมีความสามารถเพียงพอ รวมถึงมีประเด็นที่ รฟท.ยังหางบประมาณเพิ่มเติมที่จะนำมาจ่ายค่าตรวจแบบให้จีนไม่ได้ สุดท้ายจึงตกลงกันว่าไม่จำเป็นที่ทางจีนจะเข้ามาตรวจแบบ

สำหรับการประกวดราคาก่อสร้างงานโยธารถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย นั้นจะประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะใช้ผู้รับเหมาสัญชาติไทย รูปแบบเดียวกับโครงการในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไม่ใช้การประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) ส่วนกรณีที่ผู้รับเหมาจีนที่จดทะเบียนโดยมีคนไทยถือหุ้นตามระเบียบ อาจจะเป็นช่องโหว่นั้น ก็จะต้องมีการตรวจสอบในประเด็นนี้มากขึ้นแน่นอน

นายสุริยะกล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม.ว่า ขณะนี้มีความล่าช้ามาก ทั้งไทยและจีนต้องการให้เร่งรัด เพราะหากเปิดเดินรถล่าช้าจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหาย


@เรียกเชื่อมั่น รฟท.ให้สถาบันเหล็กฯ ช่วยตรวจสอบคุณภาพเหล็กสัญญา 3-1

นายสุริยะกล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และมีเหตุอาคารถล่ม ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ต้องทบทวนกระบวนการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างทั้งระบบ โดยเฉพาะงานโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟท.ตรวจสอบคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรับแรงสั่นสะเทือนและต้านทานแผ่นดินไหว โดยจะนำบทเรียนต่างๆ มาปรับใช้ในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มเติม


@ผู้ว่าฯ รฟท.แจง ตรวจสอบทุกขั้นตอนก่อสร้าง-ทดสอบวัสดุตามมาตรฐาน

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงมีการทดสอบวัสดุก่อสร้างทุกขั้นตอนและมีการตรวจรับรองคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ เช่น การตรวจโรงงานเพื่ออนุมัติและรับรองการผลิต อีกทั้งก่อนที่จะนำเหล็กจากโรงงานมาใช้ ต้องมีการทดสอบคุณภาพของเหล็กตามข้อกำหนด โดยจะมีการทดสอบที่เพิ่มจากมาตรฐานของไทยคือต้องมีการทดสอบความล้าของเหล็กแต่ละขนาด ขณะเดียวกัน เมื่อนำเหล็กมาถึงโครงการก่อสร้าง จะต้องมีการเก็บ Tag ของเหล็กไว้ตรวจสอบ และจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างโดยผู้ควบคุมงานและทำการทดสอบตามข้อกำหนด ขณะที่ก่อนทำการเทคอนกรีต ผู้ควบคุมงานจะทำการสุ่มตรวจจำนวน และขนาดเหล็ก เมื่อผ่านมาตรฐานแล้วจึงจะทำการเทคอนกรีต

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างมีความล่าช้า ซึ่งจากการเช็กแผนก่อสร้างที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

นายวีริศยืนยันว่า รฟท.ดำเนินการบนมาตรฐานที่สูง ขณะที่โครงสร้างเหล็กต่างๆ มีมาตรฐานตามระดับสากล และได้รับรายงานว่าโครงการไทย-จีน เฟส 1 ใช้เหล็กของ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีกทั้งการดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ทำการออกแบบเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ส่วนการตรวจสอบ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยมีผู้รับจ้างเป็น บจ.กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10 ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กไปดำเนินการตรวจสอบ คาดว่าจะทราบผลภายใน 2 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น