xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดรฟท.เคาะรถไฟฟ้า 20 บาท”สีแดง-แอร์พอร์ตลิงก์” เงื่อนไขใหม่ ก.ย.68 เฉพาะบัตร EMVลงทะเบียนเท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท. เคาะค่าโดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ 20 บาทเหมือนสายสีแดง ชงครม.เริ่มใช้ก.ย.68 กรมราง วางรูปแบบใหม่ ใช้จ่ายผ่านบัตร EMV ลงทะเบียนผูกบัตรประชาชน เงินสด-บัตรอื่น ไม่ลด ด้านรฟม.จ่อชงบอร์ด 8 เม.ย.นี้ ลุยเจรจาแก้สัญญาเอกชน “สีน้ำเงิน-เหลือง-ชมพู”

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) วันที่  27 มี.ค. 2568 ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ การใช้อัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ในโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ARL) ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่รอบเดือนกันยายน 2568 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 1 ปี

ทั้งนี้ รฟท.รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งปัจจุบัน เข้าร่วมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และส่งเสริมให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแล้ว โดย มียอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จะเข้าร่วมดำเนินการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่เดือนก.ย. 2568 โดยปัจจุบัน ผู้ให้บริการเดินรถ คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

สำหรับเงื่อนไขการกำหนดค่าโดยสารในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย จะได้รับสิทธิ์เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันของรัฐบาล และชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV (บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต Contactless Payment) ที่ลงทะเบียนไว้ หากชำระค่าโดยสารผ่านบัตรประเภทอื่น หรือบัตรที่ไม่ได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันของรัฐบาลไว้ จะต้องชำระค่าโดยสารในอัตราปกติ

ทั้งนี้ เนื่องจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ยังไม่มีช่องทางรับบัตร EMV มีเพียงช่องเงินสด เหรียญและบัตรโดยสารเท่านั้น ดังนั้น ทางธนาคารกรุงไทย จะเข้ามาช่วยดำเนินการเรื่องระบบและเครื่องรับบัตร EMV ต่อไป

​ โดยเรื่องนี้ กรมการขนส่งทางราง(ขร.) เป็นผู้วางหลักการรูปแบบดำเนินการ สำหรับรถไฟฟ้าของรฟท.และ โดยเป็นรูปแบบเดียวกับที่จะใช้กับรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองและสีชมพู ที่จะต้องชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV ที่ลงทะเบียน ซึ่งรฟท.จะสรุปนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)​เห็นชอบในเดือนส.ค. 2568 ก่อนเริ่มใช้รถไฟฟ้า 20 บาททุกเส้นทางตลอดสาย ในเดือนก.ย.2568 ในรูปแบบใหม่ ผ่านบัตร EMV


ทั้งนี้ การรถไฟฯ จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนเงินชดเชยรายได้ที่สูญเสีย ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการภายใต้โครงสร้างค่าโดยสารที่เป็นธรรมต่อประชาชน และคงความยั่งยืนของระบบขนส่งสาธารณะ

“ปัจจุบันรายได้และรายจ่าย จากแอร์พอร์ตลิงก์ ยังเป็นของรฟท. ซึ่งผลดำเนินงานยังขาดทุนอยู่ การชดเชยมีการคำนวณจำนวนรายได้ ที่ลดลง เนื่องจากต่อไป ทางเอกชนจะเข้ารับดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยแอร์พอร์ตลิงก์มีค่าโดยสารเฉลี่ย ที่ 9.6 บาท ต่อคน-เที่ยว ส่วนสายสีแดง ค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 10 บาทต่อคน-เที่ยว ที่ต้องชดเชย

การขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมปี 2567 มีผู้โดยสารสายสีแดง ประมาณ 24,165 คนต่อเที่ยวต่อวัน และผู้โดยสาร ARL ประมาณ 66,943 คนต่อเที่ยวต่อวัน คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้โดยสารสายสีแดงเฉลี่ย 26,495 คนต่อเที่ยวต่อวัน และผู้โดยสาร ARL ประมาณ 78,532 คนต่อเที่ยวต่อวัน และคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2569 และ 2570 ยอดผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงการตอบรับที่ดีของประชาชน เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ


@รฟม.เตรียมชงบอร์ด เม.ย.นี้ เร่งเจรจาแก้สัญญาสัมปทาน

ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกเส้นทางตลอดสาย จะใช้เดือน ก.ย. 2568 นี้ ส่วนของรฟม. จะขยายจากโครงการ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ไปใช้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเหลืองและสายสีชมพูด้วย และเนื่องจากมีผลต่อเงื่อนไขสัญญา เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าโดยสารและการชดเชยรายได้ที่ลดลง จึงจะต้องมีกระบวนการในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะต้องดําเนินตามมาตรา 46-48 ของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

โดยจะเร่งนำเสนอบอร์ดรฟม.วันที่ 8 เม.ย. 2568 ขออนุมัติหลักการ ในขณะที่รฟม.ได้เจรจากับคู่สัญญาคู่ขนาน ในเรื่องการชดเชย ไปด้วย เพื่อหาจุดที่ลงตัว โดยรัฐต้องไม่เสียประโยชน์


กำลังโหลดความคิดเห็น