“สุริยะ”ถกข้อมูลเตรียมประชุมร่วม JC รถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 32 วันที่1-2 เม.ย.นี้ ล่าสุดต่อรองจีนลดค่าตรวจแบบมาตรฐานไฮสปีดเฟส 2 (โคราช-หนองคาย) อยู่ที่ 250 ล้านบาท สั่งรฟท.เต่งหารือกรมบัญชีกลางดูระเบียบจ้างและงบประมาณ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับประะเด็นในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 32 (Joint Committee หรือ JC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย.2568 โดยทั้งสองฝ่ายกำหนดประชุมรูปแบบออนไลน์
นายสุริยะ กล่าวถึงประเด็นที่หารือกับจีนว่า เบื้องต้นมี 2-3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ซึ่ง ทางการจีนเสนอค่าใช้จ่ายในการตรวจแบบการก่อสร้างตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงจีน ในโดยล่าสุดเจรจาวงเงินมาอยู่ที่ วงเงิน 250 ล้านบาท เรื่องนี้จึงได้มอบหมาย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาความเหมาะสมต่อไป ที่สำคัญคือ ต้องหารือกระทรวงการคลังในกรณีที่ให้บริษัทที่ปรึกษาจากจีนเข้ามาตรวจสอบแบบงานได้ ส่วนวงเงินที่จะใช้สำหรับค่าใช้จ่ายตรวจแบบมาตรฐานดังกล่าว ให้ รฟท.ไปพิจารณาว่านำมาจากส่วนใด
แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า เหตุผลที่ทางการจีนต้องการตรวจแบบก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางการ กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ใช้เทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนตลอดแสนทาง เนื่องจากโครงการในระยะที่ 1 ทางจีนออกแบบและควบคุมการก่อสร้างตามมาตรฐานจีน ดังนั้นเมื่อมีการอนุมัติก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 แม้รฟท.จะออกแบบและก่อสร้างเอง แต่ต้องมีการออกแบบให้ทั้ง 2 ส่วน เชื่อมต่อกัน ด้วยระบบเทคโนโลยีดียวกัน
ทั้งนี้รฟท.ได้รับงบประมาณจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียด โครงการรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) วงเงิน 751.62 ล้านบาท ขณะที่ฝ่ายจีน เสนอค่าใช้จ่ายในการตรวจแบบตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงจีน ที่วงเงิน 300 ล้านบาท และเจรจาลงมาอยู่ที่ 250 ล้าานบาท โดย รฟท.ยังไม่ได้ตอบรับ และจะมีการเจรจาในรายละเอียดต่อไป
ส่วนขั้นตอนที่ทางการจีนจะเข้ามาตรวจสอบได้นั้น แหล่งข่าวจากรฟท.ยอมรับว่า จะต้องมีการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง ขอยกเว้นกฎหมายบางฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้วิศวกรที่ปรึกษาจากจีนเข้ามาตรวจสอบแบบได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำเนินการได้ โดยมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ออกตามความในมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แต่ปัจจุบันไม่มีแล้วจึงต้องดำเนินการจ้างที่ปรึกษา ซึ่งตามระเบียบกรมบัญชีกลาง การจะจ้างที่ปรึกษาจะต้องมีชื่อบริษัทนั้นปรากฎอยู่ในบัญชีของกรมบัญชีกลางก่อน อาจต้องเสนอครม.ขอมติงดเว้นการบังคับใช้ระเบียบตรงนี้ โดยได้ให้เหตุผลทางการจีนไปแล้วว่า
“การให้จีนเข้ามาตรวจสอบแบบก่อสร้างไม่ใช่จะมีการทบทวนแบบใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการเข้ามาตรวจสอบในด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานของจีน เช่น มาตรฐานของงานโครงสร้างเป็นไปตามมาตรฐานจีนใช่หรือไม่ เป็นต้น ไม่ได้เข้ามาตรวจแบบจับผิด เพราะจะผิดกฎหมายวิชาชีพ ส่วนหน่วยงานที่ต้องมีการหรือหลักๆ น่าจะเป็นกรมบัญชีกลางกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ”
รายงานข่าวแจ้งถึงความคืบหน้าประเด็นมรดกโลกสถานีอยุธยา โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-โคราช สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ซึ่งรฟท.มีการปรับแก้ไขตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก หลังลงสำรวจพื้นที่จริงและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบทางทรัพย์สินและวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (HIA) แล้วเมื่อเดือน ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นว่า ควรรอรายลานผลจากมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน ดังนั้น รฟท. จะมีการแจ้งไปยังบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ให้ขยายระยะเวลายืนราคาเสนออกไปอีกได้หรือไม่ เนื่องจากการยืนราคาล่าสุดจะสิ้นสุดปลายเดือนมี.ค.68