xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ 1 ก.ค. 68 ปิดเคาน์เตอร์ Walk in กรมพัฒน์พลิกโฉมตั้งบริษัทใช้ออนไลน์ 100% ทำได้ครบจบทุกขั้นตอน สุดจึ้ง! เอาใจสายมูเลือกวันมงคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพลิกโฉมหน้าการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเป็นระบบออนไลน์ 100% โดยจะทำการปิดเคาน์เตอร์ Walk in รับคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลแบบกระดาษทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป และให้ใช้ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล (DBD Biz Regist) เพียงอย่างเดียว เพื่อตอบโจทย์การบริการภาครัฐดิจิทัล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ที่จะช่วยให้การจดทะเบียนทำได้เร็วขึ้น ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล สามารถทำได้ครบจบในที่เดียว
แต่ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบการรับจดทะเบียนนิติบุคคลมาอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะรู้ผลว่าจะรับจดบริษัทหรือไม่ ต่อมาลดเหลือแค่ไม่กี่วัน จนกระทั่งล่าสุด เพียงแค่วันเดียวก็รู้ผลได้ทันที

อดีตใช้เวลาเป็นเดือน

กระบวนการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ในอดีตที่ผ่านมาหากเป็นห้างหุ้นส่วน ต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป และบริษัทจำกัดต้องมีผู้เริ่มก่อการที่จะมาร่วมลงทุนอย่างน้อย 7 คนขึ้นไป และต้องยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิก่อน จึงจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ แต่ต่อมา 1 ก.ค. 2551 ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ลดจำนวนผู้ก่อการตั้งบริษัทเหลืออย่างน้อย 3 คน และสามารถจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัทจำกัดได้ภายในวันเดียวกัน

ส่วนการจองชื่อนิติบุคคลที่จะใช้จดทะเบียน ในอดีตก่อนที่จะมีการพัฒนาให้มีการจองชื่อ จะเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเข้ามาพร้อมกับรายละเอียดคำขอจดทะเบียนอื่นๆ หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วเป็นชื่อที่ซ้ำหรือไปคล้ายกับนิติบุคคลอื่น ก็จะไม่สามารถรับจดทะเบียนได้ ต้องแก้ไขหรือยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการยื่นขอจดทะเบียน จึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงมาเป็นให้ผู้ที่จะขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลยื่นขอจองชื่อที่จะใช้ให้ได้เสียก่อน โดยในช่วงแรกจะใช้เวลาในการตรวจสอบชื่อนิติบุคคลที่มีผู้ยื่นขอจองนานประมาณ 7 วัน เนื่องจากต้องค้นชื่อจากสมุดทะเบียนชื่อนิติบุคคล

ต่อมาปี 2544 ได้มีการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการปฏิบัติงาน โดยการสร้างระบบจองชื่อนิติบุคคล ผู้ขอจดทะเบียนสามารถจองชื่อนิติบุคคลผ่านระบบการจองชื่อได้ และได้พัฒนาใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นฐานข้อมูลให้จองชื่อผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2556 ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการจองชื่อเหลือ 1-3 วัน และในปัจจุบันการจองชื่อสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะขอจองชื่อนิติบุคคลเพียงเข้าเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เลือกเมนูจองชื่อนิติบุคคล ก็สามารถทราบผลการจองชื่อนิติบุคคลได้แบบทันทีทันใด

นอกจากนี้ เดิมทีการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด กำหนดรับจดทะเบียนแต่เฉพาะที่ส่วนกลาง โดยคำขอจากส่วนภูมิภาคต้องส่งมาพิจารณาในส่วนกลางเท่านั้น ต่อมาได้ขยายการจดทะเบียนสำนักงานห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดไปสู่ภูมิภาคและรับจดทะเบียนได้เลยในแต่ละจังหวัด โดยมีกระบวนการพิจารณาประมาณ 30 วัน จากนั้นได้ปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยี และรับจดทะเบียนได้ภายใน 1 ชั่วโมง 25 นาที (ต่อ 1 คำขอ) และจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศ ก็สามารถจดทะเบียนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดทั้งกระบวนการแบบสมบูรณ์


เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้

การรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด เริ่มเข้าสู่ช่วงสะดวก รวดเร็ว ทันใจ โดยได้เริ่มอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อปี 2557 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) มาใช้ มีเป้าหมายพัฒนาระบบประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2560 และสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2560 เป็นต้นมา

ระบบ e-Registration สามารถให้บริการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดตลอด 24 ชั่วโมง ยื่นได้ทุกประเภทคำขอจดทะเบียน ตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้ง แก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียน เลิก และการแก้ไขรายการทางทะเบียนที่ไม่ต้องยื่นขอจดทะเบียน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่เริ่มต้นยื่นคำขอจดทะเบียน จนจบกระบวนการชำระค่าธรรมเนียมและการรับเอกสารหลังการจดทะเบียน เช่น ใบเสร็จรับเงิน หนังสือรับรองนิติบุคคล ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ขอหนังสือรับรองและสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง ทั้งนี้ การยื่นจดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration จะมีค่าธรรมเนียมที่ประหยัดกว่าการยื่นคำขอแบบกระดาษ 50%

ระบบ e-Registration ยังทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังทำให้ระบบจดทะเบียนมีความโปร่งใส ลดข้อขัดแย้ง ลดการใช้กระดาษ สามารถรองรับการจัดเก็บข้อมูลนิติบุคคลที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และการสืบค้นข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ระบบ e-Registration ได้นำ Digital Signature หรือการลงลายมือชื่อด้วยเทคโนโลยี Public Key Infrastructure (PKI) มาใช้ ซึ่งเทียบเท่ากับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 อีกทั้งระบบดังกล่าวยังได้รับการรับรอง ISO 27001:2013 จึงมั่นใจได้ว่าระบบดังกล่าวมีความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ ไม่หละหลวม และไม่นำมาซึ่งข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการจดทะเบียน


จดทะเบียนทรีอินวัน

นอกจากการพัฒนาในส่วนของการให้บริการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทแล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยได้ร่วมกับกรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม รวมขั้นตอนการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขึ้นทะเบียนประกันสังคม ให้อยู่ในขั้นตอนเดียว โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และให้ถือว่านิติบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2563 เป็นต้นมา สำหรับการยื่นคำขอจดทะเบียนแบบปกติ (Walk in) ก่อน

ในส่วนของการขึ้นทะเบียนประกันสังคม ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2562 จะถือว่าขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างโดยอัตโนมัติ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ และการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่ดีขึ้น

พลิกโฉมจดทะเบียนแบบดิจิทัล

ต่อมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ปรับเปลี่ยนระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เป็นระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล (DBD Biz Regist) ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด โดยได้นำนวัตกรรมการให้บริการจดทะเบียนออนไลน์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น กระบวนการการลงทะเบียนยืนยันตัวตนและพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตรวจสอบบุคคลได้หลากหลายช่องทาง เช่น แอปพลิเคชัน DBD e-Service (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) แอปพลิเคชัน ThaiD (กรมการปกครอง) ยืนยันตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ มีการกรอกคำขอจดทะเบียนแบบ e-Form (Online) ซึ่งมีความ User Friendly เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก มีข้อความสำเร็จรูปให้เลือกใช้ ลดการกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน มีการแจ้งเตือนการบันทึกข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ขอจดทะเบียนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสร้างความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ระบบยังมีการเชื่อมโยงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น กรมการปกครอง กรมสรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี อีกทั้งระบบดังกล่าว ยังสามารถอนุมัติรับจดทะเบียนทันทีเมื่อชำระค่าธรรมเนียมของทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยได้เปิดใช้ระบบจดทะเบียนดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา


จดบริษัททำได้ครบจบทุกขั้นตอน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางดิจิทัล หรือ DBD Biz Regist เป็นระบบที่เป็นมิตรและสะดวกต่อผู้ใช้บริการ หรือ User Friendly เช่น ปรับเปลี่ยนการกรอกข้อมูลรายละเอียดการจดทะเบียนให้เป็นรูปแบบ e-Form พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกครอง ไปรษณีย์ไทย เพื่อความสะดวกและลดความซ้ำซ้อนในการกรอกข้อมูล และสามารถใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งจัดตั้งใหม่ เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูลทางทะเบียนได้ครบจบในระบบเดียว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลารอคิว และไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงาน อีกทั้งยังสามารถติดตามสถานะการยื่นคำขอได้แบบเรียลไทม์ผ่านการแจ้งเตือนและรายงานความคืบหน้าในทุกขั้นตอนผ่านระบบออนไลน์

นอกจากนี้ การให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล (DBD Biz Regist) จะช่วยลดข้อผิดพลาดในการกรอกข้อมูล เพราะระบบจะช่วยตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนการยื่นคำขอ ส่งผลให้ข้อมูลที่ยื่นจดทะเบียนมีความถูกต้อง สมบูรณ์ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบกับมีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย สะดวก และตัดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนออกไปจึงช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคอย่างสมบูรณ์

“ระบบ DBD Biz Regist มี 4 ดี ได้แก่ ดีแรก ให้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกที่ทุกเวลา 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสำนักงาน ดีที่สอง ลดการใช้เอกสาร โดยลดการยื่นเอกสารและการใช้กระดาษทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีที่สาม ความปลอดภัยสูง มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลและรักษาความโปร่งใสในกระบวนการจดทะเบียนตลอดจนการจัดเก็บข้อมูลนิติบุคคล และดีที่สี่ ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม” นางอรมนกล่าว


เอาใจสายมูเลือกวันตั้งบริษัทได้

นางอรมนกล่าวว่า ระบบ DBD Biz Regist ยังได้เพิ่มฟีเจอร์ที่เป็นลูกเล่นใหม่ เอาใจธุรกิจที่มีความเชื่อหรือศาสตร์สายมู โดยสามารถเลือกจดทะเบียนในวันมงคลที่ต้องการได้ด้วยตนเอง เนื่องจากการอ้างอิงสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2567 พบว่า ผู้ประกอบการนิยมเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งในวันที่เป็นเลขมงคล เช่น วันที่ 9 เดือน 9, วันที่ 8 เดือน 8 และวันที่ 9 เดือน 1 ถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจด้วยฤกษ์มงคล ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการให้ธุรกิจราบรื่นตั้งแต่ก้าวแรกในการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ มีสถิติยืนยัน ซึ่งกรมได้เคยทำการสำรวจการจดตั้งบริษัทใหม่ช่วง 11 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) พบว่า วันที่ภาคเอกชนเข้ามาจดทะเบียนธุรกิจมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่

1.วันที่ 9 เดือน 9 (9 ก.ย.) จดทะเบียนธุรกิจจำนวน 685 รายการ ซึ่งมีตัวเลข 9 ซ้ำกัน คือ เลขวัน (9) เดือน (9) ซึ่งเลข 9 ตามความเชื่อของวัฒนธรรมไทยเชื่อว่าเป็นตัวเลขมงคล เพราะพ้องเสียงกับคำว่า “ก้าว” ที่สื่อถึงความเจริญก้าวหน้า อีกทั้ง วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2567 เป็นวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการทำงาน

2.วันที่ 29 เดือน 1 (29 ม.ค.) จดทะเบียนธุรกิจจำนวน 605 รายการ ตัวเลขวันที่ 29 นอกจากจะมีเลข 9 แล้ว 2+9 = 11 เดือน 1 ซึ่งหากดูตามตัวเลขนี้แล้ว พบว่ามีเลข 1 ถึง 3 ตัว ตามความเชื่อจะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นที่ 1 มีความเป็นผู้นำ อีกทั้ง วันที่ 29 เดือน 1 ปี 2567 เป็นวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการทำงาน

3.วันที่ 8 เดือน 8 (8 ส.ค.) จดทะเบียนธุรกิจจำนวน 558 รายการ ซึ่งมีเลข 8 ซ้ำกัน คือ เลขวัน (8) เดือน (8) โดยเลข 8 เป็นเลขมงคลอันดับ 1 ของจีน เนื่องจากเลข 8 อ่านว่า ปา (ba) พ้องเสียงกับคำว่า “ฟา ไฉ” ที่แปลว่า รวย และยังเป็นตัวเลขที่มีรูปลักษณ์คล้ายเครื่องหมาย Infinity ที่แปลว่า ไม่มีที่สิ้นสุด คนจีนจึงเชื่อว่า เลข 8 มีความหมายว่า รวยไม่มีที่สิ้นสุด จึงทำให้ภาคธุรกิจนิยมนำเลข 8 มาเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ รวมทั้งใช้เป็นวันที่เข้ามาดำเนินการจดทะเบียนธุรกิจด้วย นอกจากนี้ วันที่ 8 เดือน 8 ปี 2567 ยังเป็นวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันแห่งการยกย่อง นับถือ เพราะตรงกับวันครู อีกทั้งในปี 2567 (ช่วงวันที่ 16 เม.ย.-31 ธ.ค. 67) วันพฤหัสบดี เป็นวันอธิบดี

4.วันที่ 9 เดือน 1 จดทะเบียนธุรกิจจำนวน 532 รายการ มีทั้ง เลข 9 (วันที่) และ เลข 1 (เดือน) ซึ่งหมายถึง มีทั้งความก้าวหน้าและเป็นที่หนึ่ง และมีความเป็นผู้นำทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีวันมงคลที่ช่วยเพิ่มจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจ เช่น วันธงชัย และวันอธิบดี ที่มีจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจสูงกว่าวันธรรมดาทั่วไป ซึ่งจากตำราพรหมชาตินั้น “วันธงชัย” ถือเป็นหนึ่งในฤกษ์ดีที่สุด มีความหมายว่า วันแห่งชัยชนะ หากทำการใดด้านมงคลจะมีชัยเหนือผู้อื่น ถือเป็นวันที่ดีที่สุด เหมาะกับการริเริ่มทำการทุกสิ่ง เชื่อว่าหากดำเนินการสิ่งใดในวันนี้ จะให้ผลสำเร็จสูงสุด

ส่วน “วันอธิบดี” เป็นฤกษ์ดีรองจากวันธงชัย มีความหมายเกี่ยวกับการสนับสนุนความมั่นคงเป็นหลัก ส่วนใหญ่ผู้ประกอบธุรกิจมักเลือกใช้เป็นวันที่เริ่มต้นกิจการ หรือการเริ่มต้นใหม่ และต้องการเสริมโชคชะตาด้านความมั่นคงตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงวันที่และเดือนมีตัวเลขซ้ำกัน เช่น 9/9, 8/8, 1/1, 11/11 เป็นต้น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยการจดทะเบียนธุรกิจสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวันที่อื่นๆ

ขณะที่วันทำการทั่วไป วันจันทร์ และวันพฤหัสบดี เป็นวันที่มีจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจสูงที่สุดในกลุ่มวันทำการทั่วไป เนื่องจากวันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ และวันพฤหัสบดีเป็นวันครู ซึ่งปกติคนไทยมักจะเชื่อว่าเป็นวันที่ดี ส่วนวันศุกร์ เป็นวันที่ภาคธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนธุรกิจน้อยที่สุดในแต่ละสัปดาห์ เนื่องจากเป็นวันที่ติดกับวันเสาร์-อาทิตย์ (วันหยุดราชการ) หากมีเอกสารที่ต้องแก้ไข อาจต้องดำเนินการอีกครั้งในวันจันทร์ นอกจากนี้ บางรายอาจใช้วันคล้ายวันเกิด วันแต่งงาน เป็นฤกษ์ที่ดีในการจดทะเบียนธุรกิจด้วย

ปิดเคาน์เตอร์ Walk in 1 ก.ค. 68

นางอรมนกล่าวอีกว่า กรมได้นับถอยหลัง โดยตั้งเป้าปิดเคาน์เตอร์ Walk in ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลแบบกระดาษทั่วประเทศ ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป โดยผู้ใช้บริการสามารถจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล เปลี่ยนแปลง แก้ไขรายการทางทะเบียนทางออนไลน์ 100% ผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล (DBD Biz Regist) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติงานของกรมที่มุ่งสู่การให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลเป็นหลัก และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ภาคธุรกิจต้องการใช้บริการผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้การเริ่มต้นธุรกิจหรือระหว่างดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด ที่สำคัญ สามารถแก้ปัญหาเรื่องการจองคิวจดทะเบียนนิติบุคคลที่ในแต่ละวันสามารถรับได้จำนวนจำกัด ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า ช่วยให้การจดทะเบียนมีความรวดเร็วขึ้น สามารถดำเนินการได้ทุกที่ ทุกเวลา

ทั้งนี้ หลังจากปิดเคาน์เตอร์ Walk In จดทะเบียนธุรกิจทั่วประเทศ แต่ยังคงมีเคาน์เตอร์ให้คำปรึกษาเรื่องเอกสารที่จะใช้ประกอบการยื่นจดทะเบียนทางออนไลน์ ผ่านระบบ DBD Biz Regist และแนะนำการกรอก e-Form ในการยื่นขอจดทะเบียนหรือแก้ไขรายการทางทะเบียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เป็นกังวลไม่ต้องการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ (e-KYC) สามารถพิมพ์เอกสาร (Consent Form) ให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ แล้ว Scan ส่งให้นายทะเบียน หรือมายื่นกับนายทะเบียนที่สำนักงานจดทะเบียนทั่วประเทศ โดยกรรมการผู้มีอำนาจสามารถมายื่นด้วยตนเอง หรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ให้ผู้อื่นมาทำการยื่นเอกสารแทนได้

มีแผนช่วยเหลือก่อนปิดจริง

นางอรมนกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมก่อนปิดเคาน์เตอร์ Walk in จดทะเบียนธุรกิจทั่วประเทศ จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดการปรับตัว โดยระหว่างนี้ กรมได้เตรียมมาตรการรองรับก่อนผู้ใช้บริการต้องดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ 100% ภายในวันที่ 1 ก.ค.2568 เป็นต้นไป ได้แก่ 1.จัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยสอนใช้งานระบบ ทั้งส่วนกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าในกรุงเทพมหานครทั้ง 6 เขต และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ 2.จัดทำคลิปสั้นสอนวิธีการใช้งานทั้งการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการทางทะเบียน 3.เปิดอบรมและสอนวิธีการใช้งานระบบแก่สำนักงานบัญชี/สำนักงานกฎหมายและผู้สนใจเดือนละ 2 ครั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือหากหน่วยงานใดต้องการให้กรมฯ ส่งวิทยากรไปบรรยายรายละเอียดการใช้ระบบดังกล่าวสามารถประสานงานกรมได้ 4.เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงการให้บริการที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าใจถึงขั้นตอนการปฏิบัติและมีความพร้อมสู่การเข้าใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับผลการเปิดให้บริการระบบ DBD Biz Regist ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2568 มีภาคธุรกิจและประชาชนหันมาใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งจัดตั้งใหม่ เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูลทางทะเบียนผ่านระบบ DBD Biz Regist เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดคิดเป็นร้อยละ 17 ของผู้ใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด ซึ่งคำขอที่ยืนผ่านระบบ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจความถูกต้องและอนุมัติคำขอจดทะเบียนได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงขอเชิญชวนภาคธุรกิจและประชาชนให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบ DBD Biz Regist ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้การเริ่มต้นประกอบธุรกิจหรือระหว่างการดำเนินธุรกิจมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น