xs
xsm
sm
md
lg

SACIT กางแผนงานปี 68 เดินหน้ายกระดับงานหัตถศิลป์ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • รักษาและสืบสาน: อนุรักษ์งานหัตถศิลป์ไทยไม่ให้สูญหาย
  • • พัฒนาอย่างยั่งยืน: ส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน
  • • ขยายตลาด: เพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
  • • พัฒนาองค์กร: พัฒนาศักยภาพบุคลากรและองค์กร


SACIT กางแผนทำงานปี 68 มุ่งสืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม เพื่อยกระดับงานหัตถศิลป์ไทยสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนงานใน 4 มิติ การรักษางานศิลปหัตถกรรมไม่ให้สูญหาย มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มโอกาสทางการตลาด และพัฒนาองค์กรแห่งความสุข

ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เปิดเผยว่า SACIT มุ่งการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยในปี 2568 ด้วยนโยบาย สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม เพื่อยกระดับงานศิลปหัตถกรรมในทุกมิติ โดยการสืบสาน มุ่งการอนุรักษ์งานคราฟต์ดั้งเดิมที่กำลังเลือนหายไป เพื่อให้ยังคงอยู่ในตลาดและในวิถีชีวิตของคนไทย และมีความสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ขณะที่สร้างสรรค์ เป็นการทำให้งานคราฟต์มีความร่วมสมัยผ่านการออกแบบ รูปลักษณ์ การคัดเลือกนำวัสดุมาใช้ให้เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริม การสร้างการรับรู้ในงานศิลปหัตถกรรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในทุกเจเนอเรชันเกิดความชื่นชอบและใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาดผ่านการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลาย และเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเกิดการเปลี่ยนที่เป็นรูปธรรม SACIT จึงมีการดำเนินงานใน 4 มิติ โดยมิติแรก คือ การรักษางานศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหายด้วยแนวคิดหัตถศิลป์ที่คิดถึง ซึ่งปี 2568 นี้จะเน้นสร้างความตระหนักถึงกลุ่มงานหัตถศิลป์ประเภทเครื่องรัก-เครื่องมุก และงานหัตถศิลป์ล้านนาประเภทเครื่องเขิน ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย เหลือครูผู้สร้างสรรค์น้อยราย ซึ่ง SACIT จะมีการสืบสานทั้งในด้านองค์ความรู้ วัตถุดิบ ทักษะเชิงช่างหัตถกรรม และยังมองภาพใหญ่ในแง่มุมของการเชื่อมโยงองค์ความรู้ร่วมกันของทั้งไทย และต่างประเทศ


มิติที่สอง การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังใส่ใจต่อเรื่องชุมชน สังคม รวมถึงกลุ่มคนผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ไทยทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องของสุขภาพของผู้ผลิตงาน การให้โอกาสกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขัง และการพัฒนางานคราฟต์ภายใต้แนวคิด ESG ที่มุ่งในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

มิติที่สาม การยกระดับงานคราฟต์ จะส่งเสริมผลักดันงานหัตถกรรมออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน และร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้งานหัตถศิลป์ไทย และขยายโอกาสทางการค้า รวมทั้งผลักดันจำหน่ายผ่านภาคเอกชนชื่อดัง เช่น จิม ทอมป์สัน ค้าส่งค้าปลีก สยามพิวรรธน์ ไอคอนสยาม

มิติที่สี่ จะตั้งเป้าสร้างองค์กรแห่งความสุข หรือองค์กรแห่งประสิทธิภาพ ซึ่งให้ความสำคัญด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อส่งต่อความสุขจากการทำงานไปยังกลุ่มเป้าหมายและผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง โดยปีนี้มีแผนพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มข้น และยังมุ่งมั่นที่จะยกระดับสู่องค์กรดิจิทัล










กำลังโหลดความคิดเห็น