“พิชัย” รับม็อบชาวนา ยันชงมาตรการผลักดันราคาข้าวเปลือกเข้า นบข. 26 ก.พ.นี้ เกษตรกรได้เงินเพิ่มแน่ตันละ 1,000-1,500 บาท ส่วนการชดเชยรายได้ หรือประกันรายได้ทำไม่ได้ เหตุขัดมติ ครม.และ นบข. “วิทยากร” แจงยิบ ชาวนาจะได้เงินค่าข้าวความชื้น 15% บวกค่าฝากเก็บ รวมตันละ 9,500-10,000 บาท สำหรับข้อเสนองดเผา เยียวยาพื้นที่รับน้ำ ต้องรออนุ นบข.ด้านการผลิตพิจารณาจะให้หรือไม่อย่างไร
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเดินทางไปพบกลุ่มชาวนาจากจังหวัดภาคกลางที่เดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเรียกร้องการช่วยเหลือราคาข้าว ว่า ได้ยืนยันไปว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อปัญหาของพี่น้องเกษตรกร และกำลังดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งได้ข้อสรุปแล้ว จะดำเนิน 3 มาตรการ โดยมาตรการหลักจะช่วยให้ชาวนาได้เงินเพิ่มตันละ 1,000-1,500 บาท คือ การเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเอง จะได้ตันละ 1,500 บาท และ 1,000 บาท หากฝากเก็บไว้กับสหกรณ์ เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน ซึ่งวันที่ 26 ก.พ. 2568 นี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ส่วนอีก 2 มาตรการ จะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการโรงสี 6% ต้องเก็บสต๊อกไว้ 2-6 เดือน เป้าหมาย 2 ล้านตัน และเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน รวมทั้งจะมีมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น การกระตุ้นการบริโภคข้าว ที่จะร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ผลิตข้าวถุงราคาประหยัดขายผ่านห้างโมเดิร์นเทรด การเร่งรัดผลักดันการส่งออกข้าว และการหาตลาดข้าว เช่น การผลักดันให้จีนซื้อข้าวจีทูจีที่ค้างอยู่ 2.8 แสนตัน และการผลักดันส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ ซึ่งจะมีการเจรจาในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้
สำหรับเรื่องเงินชดเชยรายได้ หรือการประกันรายได้ตามข้อเรียกร้องของเกษตรกร ยืนยันว่า ทำไม่ได้ เพราะขัดกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 และมติ นบข. เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ที่กำหนดว่าในการจัดทำมาตรการ โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรกร ให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรังอย่างเป็นรูปธรรม เพราะปกติ จะมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะข้าวนาปี โดยมาตรการที่ออกมา หากข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ราคาตลาดอยู่ที่ 8,500 บาทต่อตัน เกษตรกรจะได้เงินเพิ่ม 1,000 บาท หากนำไปฝากไว้ที่สหกรณ์ และกำลังจะดูว่าจะเพิ่มที่ฝากอื่นๆ อีก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร แต่ถ้าฝากไว้ที่ยุ้งฉางตัวเอง จะได้เพิ่ม 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 9,500-10,000 บาท แล้วแต่ว่าฝากไว้กับใคร ส่วนมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสี จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และกระตุ้นให้มีการซื้อข้าวเพิ่มขึ้น และการเปิดจุดรับซื้อ ที่ให้ซื้อในราคานำตลาดอีก 300 บาทต่อตัน จะทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มาตรการในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาดไปแล้ว ส่วนข้อเสนอของเกษตรกร เช่น การงดเผาตอซังฟางข้าว และการเยียวยากรณีเป็นพื้นที่รับน้ำ ต้องรอคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ จะพิจารณาในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.พ. 2568 ต้องรอดูว่าจะมีมาตรการแบบไหน อย่างไร ถ้าได้ข้อสรุป ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุม นบข. ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน และเมื่อ นบข.อนุมัติก็จะเสนอ ครม. วันที่ 4 มี.ค. 2568 และดำเนินมาตรการทุกมาตรการได้ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2568 เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปรังจากหลายจังหวัดของภาคกลางได้เดินทางกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทวงถามมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวเปลือกนาปรังตกต่ำ โดยไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่ อนุ นบข.ด้านการตลาด มีมติออกมา 3 มาตรการ โดยขอให้ประกันราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ที่ตันละ 11,000 บาท และชดเชยให้ชาวนาที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว ถ้าไม่ได้รับการพิจารณาจะยกระดับเอาข้าวไปโปรยที่สนามบิน และไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด