“พาณิชย์” เอาไม่อยู่ ปล่อยผู้ผลิต ห้าง แพลตฟอร์มออนไลน์ ฟันกำไรเครื่องฟอกอากาศฉ่ำ ปรับขึ้นราคาเป็นว่าเล่น ไม่สนคำขู่ขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม เหตุรัฐทำงานสุดอืด ไม่ทันเกมธุรกิจ ผ่านมาแล้วเกือบเดือน ยังชง ครม. คุมไม่ได้ ร้องในห้างหาซื้อยาก สินค้าไม่มีขาย แต่โผล่ออนไลน์เพียบ แถมเจอพ่อค้าฉวยจังหวะช่วงสุญญากาศ อัปราคาต่อเนื่อง ฟันกำไรเป็น 100% แบบไม่มีเพดานสกัด ทำคนไทยเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าขณะนี้ ผู้ผลิต และห้าง ได้มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าเครื่องฟอกอากาศอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศจะนำสินค้าเครื่องฟอกอากาศและเครื่องดูดฝุ่นเข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุม ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2568 แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการประกาศขึ้นบัญชีควบคุม ทำให้ผู้ผลิต ห้าง และแพลตฟอร์มออนไลน์ ใช้โอกาสช่วงสุญญากาศ ทำการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีความผิด และไม่ต้องแจ้งขออนุญาตปรับขึ้นราคากับกระทรวงพาณิชย์ จะขายราคาใดก็ได้
ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาเครื่องฟอกอากาศที่จำหน่ายในห้าง พบว่า สินค้าแบรนด์ที่ผู้บริโภคนิยมซื้อ เช่น Xiaomi , Sharp , Philips , Electrolux , Daikin , Panasonic , Hatari , LG ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มราคาไม่แพงมาก ราคาตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท สินค้าขาดตลาด มีวางจำหน่ายเพียงไม่กี่รุ่น ส่วนรุ่นยอดนิยม สินค้าไม่มีขาย หรือถ้าต้องการซื้อ ต้องจอง หรือจ่ายเงินมัดจำ หรือจ่ายเต็มจำนวน เพื่อจองสินค้าไว้ แล้วมารับสินค้าภายหลัง สำหรับรุ่นที่มีราคาแพง ราคาตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ยังมีวางจำหน่าย และมีให้เลือกหลายยี่ห้อ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อไม่ได้ ยกเว้นผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้สูง
สำหรับสินค้ายอดนิยม ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น Xiaomi Air Purifier 4 pro จากช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่เกิดฝุ่น PM 2.5 ราคาจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 4,000-5,000 กว่าบาท แล้วแต่การจัดโปรโมชัน แต่พอเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่น ราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ 5,990 บาท ขยับเป็น 6,990 บาท 7,990 บาท 8,990 บาท และล่าสุด 9,990 บาท ขณะที่รุ่นนิยมรองลงมา Xiaomi smart air purifier 4 lite ก่อนหน้านี้ ราคาประมาณ 2,000-3,000 บาท แต่ปัจจุบันราคา 4,690-4,990 บาท
ส่วนรุ่นอื่น ๆ เช่น Sharp FP-J30TA ราคาก่อนหน้านี้ 2,000-2,500 บาท ขณะนี้ 2,890 บาท บางแห่ง 3,990 บาท สูงสุด 4,990 บาท , Philips รุ่น AC0920/10 ราคาก่อนหน้านี้ 2,000-3,000 บาท ขณะนี้ 3,790 บาท และบางแห่งเริ่มขายที่ราคา 3,990 บาท 4,250 บาท หรือสูงสุด 5,590 บาท , LG PuriCare 360 Hit ราคาก่อนหน้านี้ 6,600 บาท ขณะนี้ 8,900-9,900 บาท , Electrolux FA31-200WT ราคาก่อนหน้านี้ 2,990 บาท ขณะนี้ 3,590-3,990 บาท และบางแห่งขาย 5,090 บาท โดยราคาที่สูงขึ้น ที่จำหน่ายในห้าง จะไม่ปรับเพิ่มมาก แต่การขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนใหญ่จะขายในราคาที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจสินค้าที่จำหน่ายภายในห้าง เช่น Power Buy ที่จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดัง พบว่า มีสินค้าให้เลือกซื้อน้อยมาก จากการสอบถาม ห้างแจ้งว่า ผู้ผลิตไม่ได้ส่งสินค้าให้ บางยี่ห้อหายไปเป็นเดือนแล้ว ยิ่งกลุ่มราคาต่ำ แทบไม่มีขาย มีแต่บางยี่ห้อที่คนไม่นิยม ส่วนยี่ห้อที่นิยม ไม่มี แต่กลับพบว่า สินค้ามีขายทางออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มชื่อดัง หรือแพลตฟอร์มของผู้ผลิต หรือของห้าง โดยมีให้เลือกเกือบทุกยี่ห้อ ซึ่งราคาจำหน่ายก็สูงกว่าที่ขายในห้าง
รายงานข่าวแจ้งว่า หากนับตั้งแต่นายพิชัย ประกาศว่าจะนำสินค้าเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องดูดฝุ่น เข้าเป็นสินค้าควบคุม ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2568 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้วเกือบเดือน โดยที่ภาครัฐไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมา ทำให้ผู้ผลิต ห้าง แพลตฟอร์มออนไลน์ ปรับขึ้นราคาสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าปกติ ราคาขึ้นลงตามความต้องการ ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้ ที่ราคาขายต่ำ เป็นการจัดโปรโมชันลดราคา เพราะยังไม่มีภาวะฝุ่น แต่พอเกิดฝุ่น ผู้บริโภคมีความต้องการมาก ก็เลยมีการปรับขึ้นราคาต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ช่วงไม่มีฝุ่น ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วเกือบ 100% บางยี่ห้อ ขึ้นเกิน 100% ไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะควบคุมได้เมื่อไร เพราะตอนนี้ ไม่ใช่แค่ราคาแพง แต่ยังหาซื้อได้ยากด้วย