xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ”สั่งรฟม.เจรจาแก้สัญญารถไฟฟ้า”น้ำเงิน-ชมพู-เหลือง”แบ่งผลประโยชน์รัฐเพิ่ม ชี้นโยบาย 20 บาท ทำเอกชนมีรายได้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ”สั่งรฟม.เจรจาเอกชนแก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า”สีน้ำเงิน-ชมพู-เหลือง”ปรับส่วนแบ่งผลประโยชน์รัฐเพิ่ม หลังนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายดันยอดผู้โดยสารเพิ่ม ส่งผลให้เอกชนมีรายได้เพิ่ม คาดชัดเจน ส.ค.นี้เสนอบอร์ดรฟม. ก่อนเสนอครม.เห็นชอบแก้สัญญา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า ภายในเดือน ก.ย. 2568 นี้ จะใช้นโยบาย ครอบคลุมรถไฟฟ้าในทุกเส้นทางไม่ว่าจะเดินทางกี่ต่อ กี่สาย จ่ายค่าโดยสาร 20 บาท ซึ่งจากที่ได้ดำเนินโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายมาเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน พบว่า จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30 % ขณะที่กรณีให้ใช้บริการฟรี มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มถึง 50 %

ซึ่งการที่รถไฟฟ้ามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เอกชนผู้ให้บริการได้รับรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายในการแก้ไขสัญญาสัมปทานโดยต้องมีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับเอกชนใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์กับภาครัฐ

โดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานว่า ได้จัดทําแผนการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง ในส่วนรถไฟฟ้าภายใต้การกํากับของ รฟม. ซึ่งกระบวนการในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะต้องดําเนินตามมาตรา 46-48 ของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีแผนดังนี้ 1. แผนการดําเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยการแก้ไขสัญญามีหลักการแตกต่างจากหลักการและเงื่อนไขสําคัญของโครงการร่วมลงทุน 2. แผนการดําเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยหลักการและเงื่อนไขสําคัญของโครงการร่วมลงทุนคงเดิม 3. แผนการดําเนินงานระบบตั๋วร่วม EMV ในรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู เพื่อพัฒนาระบบให้รองรับการใช้บัตร EMV Contactless ได้ในทุกประตูอัตโนมัติของทุกสถานี

“ตอนนี้ ทางกระทรวงคมนาคมและรฟม.จะต้องทำหนังสือสอบถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรณีที่เอกชนมีรายได้เพิ่มสามารถแก้ไขสัญญาได้อย่างไร”

โดยในส่วนของ แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน กับเอกชนผู้ที่ได้รับสัปทาน ได้มอบหมายหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม โดยขณะนี้ กรมขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดทําข้อกําหนดทางธุรกิจ (Business Rule) เช่น เงื่อนไขการเดินทาง การคิดอัตราค่าโดยสาร การจัดแบ่งและชดเชยรายได้ และแหล่งเงินชดเชย เป็นต้น

@คาดชัดเจน ส.ค.นี้เสนอบอร์ดรฟม. ก่อนเสนอครม.เห็นชอบแก้สัญญา

และหลังจากมีความชัดเจนเรื่องแก้ไขสัญญา ต่อไปรฟม. จะเข้าเจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ รฟม.(บอร์ด) พิจารณา และภายในเดือนสิงหาคม 2568 จะเสนอเข้า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้น รฟม. จะดำเนินการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จทั้งหมด ก่อนที่มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเริ่มภายในช่วงเดือนกันยายน 2568 เพื่อปะโยชน์สูงสุดของประชาชน


@รฟม.ยันไม่มีขยายสัมปทาน

ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รฟม. (ปฏิบัติการ) รักษาการผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า รฟม.มีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า 3 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเหลือง เป็น สัญญาร่วมลงทุน PPP Net Cost ที่เอกชนรับความเสี่ยงเรื่องรายได้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มและส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้ความเสี่ยงของเอกชนลดลง ดังนั้นรัฐควรได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่เอกชนได้รับเพิ่มเช่นกัน จึงต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน

โดยหลักการแก้ไขสัญญาสัมปทาน จะไม่มีประเด็นการขยายระยะเวลาสัญญา และรูปแบบการร่วมลงทุนเป็น PPP Net Cost เหมือนเดิม แต่เป็นเรื่องการเจรจาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ กรณีที่เอกชนได้ประโยชน์ก็ต้องแบ่งให้รัฐมากขึ้น ซึ่งสัญญาสัมปทานมีหลายข้อ เช่น กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 14 บาท – 45 บาท และปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค เมื่อมีนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ตรงนี้ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว หรือบางสัญญามีการแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐ เช่น สัญญา สายสีน้ำเงินระหว่างรฟม.กับ BEM นั้น รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ 15% ส่วนสีชมพู สีเหลืองตามเงื่อนไข จำนวนผู้โดยสารตอนนี้ยังไม่ถึงที่เอกชนจะแบ่งรายได้ให้รฟม.

“ปัจจุบันสัญญากำหนดอัตราค่าโดยสาร จะมีค่าเฉลี่ยที่นำไปคูณกับจำนวนผู้โดยสาร เช่นออกมาเป็นรายได้ที่ x บาท เมื่อใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารเพิ่มจนทำให้รายได้เพิ่มเป็น X+Y ซึ่งY ที่เพิ่มขึ้นมานั้น จะแบ่งกับรัฐอย่างไรเพราะเป็นการเพิ่มจาก นโยบาย 20 บาท ตรงนี้ต้องเจรจากัน เป็นต้น”

อย่างไรก็ตามรฟม.จะดำเนินการในส่วนของรถไฟฟ้า ที่อยู่ในกับสัญญา ส่วนโครงการสายสีเขียว อยู่ภายใต้กำกับของกรุงเทพมหานคร(กทม.) อาจจะต้องเป็นรัฐบาลที่เข้าไปดูแล




กำลังโหลดความคิดเห็น