- • เริ่มประมูลงานโยธา มิถุนายน 2568
- • บทเรียนจากเฟส 1 คือ ไม่แบ่งสัญญา และเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ
- • ดำเนินการก่อสร้างและเดินรถแบบ PPP
- • คาดเปิดให้บริการปี 2574 เชื่อมต่อกับลาว
- • ปัญหาทับซ้อนกับไฮสปีดของ CP จะแก้ไขสัญญาให้เสร็จสิ้น เมษายน 2567
ครม.ทุ่ม 3.41 แสนล้านสร้าง”รถไฟไทย-จีน”เฟส
2 นครราชสีมา–หนองคาย”สุริยะ”เร่งประมูลงานโยธา มิ.ย.68 เผยบทเรียนเฟส 1 ปรับสัญญาใหญ่ขึ้นเน้นผู้รับเหมามีศักยภาพ
เร่งร่างพ.ร.ฏ.เวนคืนที่ดิน
1,345 ไร่แยกเดินรถเปิดPPP ดันปี 74 เปิดวิ่งเชื่อมลาว ส่วนทับซ้อนไฮสปีดซีพี.แก้สัญญาร่วมทุนฯเข้าครม.เม.ย.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติอนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบฯ 68-75) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้รถไฟไทย-จีนระยะที่ 2 จะเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางจากเฟส 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ไปยัง สปป.ลาวและจีน ซึ่งเป็นส่วนของบันทึกความเข้าใจที่จีนได้ต้องการให้เร่งรัดโครงการ เพราะเป็นเส้นทาง One Belt One Road ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนจีน ในวันที่ 5 -8 ก.พ.2568 นี้อีกด้วย
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ (1) สถานีบัวใหญ่ (2) สถานีบ้านไผ่ (3) สถานีขอนแก่น (4) สถานีอุดรธานี และ (5) สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2575 (รวม 8 ปี)
ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า - ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว – จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) โดยในส่วนของงานโยธา รัฐโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการลงทุนเอง และใช้รูปแบบ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในการบริหารจัดการ
นายสุริยะกล่าวว่า ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกืจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กระทรวงการคลัง และ สำนักงบประมาณมีความเห็นว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณสูงมากในการดำเนินการ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงแยกงานระบบเดินรถ ออกมาดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาทหรือประมาณ 23% ของมูลค่าโครงการ โดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกจะรับผิดชอบการเดินรถตลอดเส้นทาง ตั้งแต่กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย
ส่วนงานโยธา รัฐโดย รฟท.ลงทุนเอง ซึ่งจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างปกติ โดย รฟท.จะศึกษาเพื่อจัดทำเอกสารร่างของเขตของงาน (Terms of Reference : TOR ) ต่อไป โดยคาดว่า TOR จะเสร็จ เพื่อนำไปสู่การเปิดประมูลงานโยธาได้ประมาณ มิ.ย. 2568
นายสุริยะกล่าวว่า ให้ รฟท.นำปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. ถอดบทเรียน โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ล่าช้า ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งการแบ่งย่อยงานโยธามากไปจนทำให้งานก่อสร้างไม่สอดคล้องกัน งานบางช่วงเกิดฟันหลอ ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในการก่อสร้างงานโยธา ของรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ให้ รฟท.ศึกษาและพิจารณา เบื้องต้น จะไม่แบ่งย่อยสัญญามากจนเกินไปเหมือนระยะที่ 1 และให้ดูสภาพแวดล้อม ช่วงที่เป็นอุโมงค์ ช่วงผ่านภูเขาหรือช่วงที่เป็นสะพาน ต้องแบ่งสัญญาให้สอดคล้องกับการทำงาน รวมถึงดูเรื่องการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี หรือ TOD
ทั้งนี้ โครงการะยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย มีระยะทาง 357.12 กม. กรณี แบ่งงานโยธาน้อย จะมีผลต่อมูลค่าสัญญาซึ่งอาจจะทำให้ผู้รับเหมาเข้าร่วมได้เฉพาะรายใหญ่ จะเกิดครหาหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ให้มอบเป้าหมายคือความสำเร็จของงาน ซึ่งงานก่อสร้างต้องการผู้รับเหมาที่มีศักยภาพซึ่งเป็นประเด็นที่ รฟท.ต้องไปพิจารณาด้วยว่า จะมีผู้รับเหมากี่รายที่เข้าร่วมประมูลได้
ส่วนปัญหาเรื่องการเวนคืน และการปรับแบบในระหว่างก่อสร้าง ก็เป็นเรื่องที่กำชับให้ รฟท.นำบทเรียนทั้งหมดมาปรับแก้ เช่นเวนคืน ปัญหาที่ผ่านมา คือ หลายโครงการเริ่มต้นแล้วแต่ พ.ร.บ.จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินยังไม่ประกาศ ทำให้เกิดความล่าช้า ต้องแก้ไข ซึ่งในโครงการเฟส 2 นี้ ให้ดำเนินการเวนคืนให้เสร็จระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยให้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยด้วย
@ เร่งแก้ปัญหาเฟส 1 ล่าช้า เข็นเปิดเดินรถปี 71
อย่างไรก็ตาม การเปิดเดินรถในเฟสแรกช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา ตนจะเร่งรัดผ่านไปทางบอร์ด รฟท.และ ผู้ว่าฯ รฟท.ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถในปี 2571 ซึ่งจะต้องเร่งในส่วนของงานระบบ และการหาผู้เดินรถ PPP ให้สอดคล้องกันด้วย
@แก้สัญญา”ไฮสปีด 3 สนามบิน”เข้า ครม.เม.ย.เริ่มสร้างช่วงทับซ้อน
นายสุริยะกล่าวว่า รถไฟไทย-จีนเฟส 1 ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 50% หมายความว่า เราจ่ายเงินไปแล้วเท่านั้น ดังนั้นก็ต้องให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเร่งรัดงาน กรณีอีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มงานคือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ซึ่งจะได้ข้อสรุปในส่วนของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ รถไฟเชื่อม 3 สนามบินและเสนอ ครม.ได้ในเดือน เม.ย. 2568 ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างโครงสร้างได้ต่อไป ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. จากที่ทาง ผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ได้ลงพื้นที่บริเวณแหล่งพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรมไปแล้ว อยู่ระหว่างการหารือ จะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
ขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว
รายงานแจ้งถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสู ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ในส่วนของการก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา ณ วันที่ 25 ม.ค.2568 คืบหน้า 40.528% ล่าช้ากว่าแผน 42.588% (แผนงาน 83.116%)
@เร่งร่างพ.ร.ฏ.เวนคืนที่ดิน 1,345ไร่
สำหรับการเวนคืนนั้น ตามรายงานพบว่าต้องมีการเวนคืนที่ดินประมาณ1,345ไร่ โดยรายงานข่าวจากรฟท. ระบุว่า ขณะนี้ได้ร่างพ.ร.ฏ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ...แล้วอยู่ในขั้นตอน ที่กรมการปกครองตรวจสอบ ยืนยัน แนวพื้นที่เวนคืน แผนที่แนบท้ายจากนั้นจะส่งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจร่างฯ และเสนอครม.พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้แนวเส้นทาง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย มีระยะทาง 357.12 กม. ส่วนใหญ่ใช้พื้นที่แนวเขตทางรถไฟเป็นหลัก
มีการเวนคืนไม่มาก ประมาณ 20% ช่วงรัศมีโค้งและบริเวณนครราชสีมา ดังนั้น ในช่วงแรกการเวนคืนจะไม่กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเพราะจะส่งมอบพื้นที่ในเขตทางไปก่อน