- • เริ่มก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2569 เปิดให้บริการปี 2572
- • เผยแบบป้ายชื่อสะพาน เน้นสถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-ลาว สะท้อนความเชื่อมโยงทั้งสองประเทศ
ออกแบบคืบหน้า สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ “หนองคาย-เวียงจันทน์” คาดเสร็จ ก.ย. 68 เริ่มก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 69 เปิดบริการในปี 2572 เผยแบบ "ป้ายชื่อสะพาน" เน้นสถาปัตยกรรมผสมผสานสะท้อนการเชื่อมโยงไทย-ลาว
วันที่ 30 ม.ค. 2568 รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2 จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพฯ-หนองคาย ว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สะพานรถไฟมิตรภาพไทย-ลาว “หนองคาย-เวียงจันทน์“ แห่งที่ 2 วงเงินค่าจ้าง 119.94 ล้านบาท
มีระยะเวลาศึกษา 12 เดือน ซึ่งการออกแบบจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. 2568 จากนั้นช่วงปลายปี 2568 นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการก่อสร้างสะพาน และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 3 ปี 2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือนแล้วเสร็จ และเปิดบริการในปี 2572
ทั้งนี้ ในการออกแบบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (หนองคาย-เวียงจันทน์) รฟท.ทำงานร่วมกับ สปป.ลาว เนื่องจากจะเป็นส่วนเชื่อมต่อของรถไฟความเร็วสูงจากสถานีหนองคาย-เวียงจันทน์ใต้ สปป.ลาว โดยสะพานแห่งใหม่จะอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพเดิม 30 เมตร เป็นรถไฟขนาดทางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร (standard gauge) จำนวน 1 คู่ รองรับรถไฟความเร็วสูง และทางขนาด 1 เมตร (meter gauge) อีก 1 คู่ เพื่อรองรับรถไฟปัจจุบัน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการสัญจรและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
@แบบ "ป้ายชื่อสะพาน" เน้นสถาปัตยกรรมสะท้อนการเชื่อมโยงไทย-ลาว
รายงานข่าวแจ้งว่า การออกแบบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ส่วนของโครงสร้างสะพาน จะเป็นแบบคานยื่นสมดุล (Balanced Cantilever Bridge) ขณะที่การออกแบบป้ายชื่อสะพานจะนำศิลปะและสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่มีความหมายมาผสมผสาน เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อมโยงที่ยั่งยืนระหว่างประเทศ แสดงถึงความเคารพ และสืบทอดมรดกทางศิลปะอันทรงคุณค่าของล้านช้าง ทั้งไทยและลาว เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการต้อนรับด้วยมิตรไมตรี แห่งการพัฒนาและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ผ่านเส้นทางสะพานมิตรภาพ
@กาง 5 แผนเชื่อมระบบราง ไทย-ลาว-จีน ครบวงจร ขนคนและสินค้า
สำหรับการเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ มี 5 แผนงาน ได้แก่
1. โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา คาดว่าเปิดให้บริการปี 2570
2. การปรับปรุงสะพานมิตรภาพเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าด้วยน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน/เพลานั้น กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความสามารถในการรับน้ำหนัก โดยสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษางานก่อสร้างส่วนเสริมเพื่อให้สะพานมิตรภาพสามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มแล้ว
3. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ไทย-ลาว ตกลงร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดและจัดทำ EIA
4. การพัฒนาย่านขนส่งสินค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือจากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อย เพื่อออกประกาศเชิญชวน โดยจะกำหนดราคาค่าเช่าตามระเบียบต่อไป และคณะกรรมการฯ กำลังพิจารณานำส่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
5. การเชื่อมต่อการเดินทางข้ามแดนในเส้นทางระหว่างท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ปัจจุบันแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว
@ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ผลงานโยธาคืบหน้า 35.75%
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท มีความคืบหน้าในสัญญาการก่อสร้างงานโยธาโดยรวม 35.75% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 10 สัญญา และอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา โดยได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ขึ้นเรียบร้อยแล้ว
ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณารายงาน EIA และนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573