กรมการค้าต่างประเทศเผยประกาศกระทรวงพาณิชย์ยกเลิกกำหนดให้หินเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้า จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลให้หินที่อยู่ในข่ายควบคุม 4 ชนิดไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าอีกต่อไป ระบุจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และยังเป็นไปตามพันธกรณี WTO และ ATIGA
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้หินเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567 และ ครม.ได้อนุมัติตามที่เสนอ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในการดำเนินธุรกิจตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้า โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) โดยมีผลให้สินค้าหินที่อยู่ในข่ายควบคุม 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. หินอ่อน ทราเวอร์ทิน อีคอสซิน และหินอื่นๆ พิกัดศุลกากร 25.15 ยกเว้นหินอ่อนก้อนเหลี่ยมพิกัดศุลกากร 2515.12.10 ที่มีรูปทรงมิติเป็นแท่งตันขนาดด้านกว้าง ยาว และสูง ตั้งแต่ด้านละ 50 เซนติเมตรขึ้นไป 2. หินอ่อน ทราเวอร์ทิน และอะลาบาสเตอร์ ตามพิกัดศุลกากร 6802.21.00 3. หินแกรนิต ตามพิกัดศุลกากร 6802.23.00 และ 4. หินอื่นๆ ตามพิกัดศุลกากร 6802.29.10 และ 6802.29.90 ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกระทรวงพาณิชย์อีกต่อไป
ทั้งนี้ การยกเลิกยังเป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรธรณี กรมศุลกากร กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย และสภาการเหมืองแร่
“การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวจะเป็นการลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้า ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นในอนาคตด้วย โดยผู้ประกอบการ ประชาชน และผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2547-5124 หรือสายด่วน DFT 1385” นางอารดากล่าว