- • ต้องจับตาการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม
- • โครงการคมนาคมขนาดใหญ่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ
เดือนมกราคม 2568 ถือได้ว่าเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2568 กันแล้ว จึงต้องจับตาเรื่องการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เนื่องจากมีโปรเจ็กต์ก่อสร้างงานโครงการขนาดใหญ่ ที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศได้อย่างมาก ซึ่งหลายโครงการเริ่มขยับ ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมา แต่ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่รอ ครม.อนุมัติ ซึ่ง”สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คงต้องออกแรงเข็นอย่างต่อเนื่อง
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการฯคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” ติวเข้ม…ทุกหน่วยงาน เพื่อวางแผน การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2568 และการดำเนินงานโครงการใหม่ที่สำคัญในปี 2569 ให้เป็นรูปธรรม มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับให้บริการระบบขนส่งสาธารณะและเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย
ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้วางแผนการดำเนินโครงการด้านคมนาคม ในปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท
@ขับเคลื่อน 63 โปรเจ็กต์งบเกิน 1,000 ล้านบาท
จากจำนวน 223 โครงการ หากดูเฉพาะโครงการที่มีงบลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงการใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2568 มีจำนวน 29 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 893,735.91 ล้านบาท โดยจะเบิกจ่ายงบปี 2568 จำนวน 57,140.08 ล้านบาท และกลุ่มโครงการต่อเนื่อง จำนวน 34 โครงการ วงเงินรวม 1,794,574.65 ล้านบาท เบิกจ่ายงบปี 2568 จำนวน 53,673.06 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้นจำนวน 63 โครงการ งบประมาณรวม 2,688,310.56 ล้านบาท โดยตั้งเบิกจ่ายงบปี 2568 จำนวน 110,813.14 ล้านบาท
“ถือเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ ที่จะอัดเข้าสู่ระบบ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่มากก็น้อย”
@คิกออฟ 29 โครงการใหม่ เบิกจ่ายปี 68 กว่า 5.7 หมื่นล้านบาท
ส่วนไฮไลต์ น่าจะอยู่โครงการใหม่จำนวน 29 โครงการ ที่จะเริ่มต้นในปี 2568 เพราะมีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้ง ถนนแนวใหม่ และ มอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง (ทล.), ทางด่วน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), รถไฟทางคู่, ไฮสปีด, รถไฟสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), ขยายสนามบินภูมิภาค ของกรมท่าอากาศยานยาน (ทย.) และการจัดหารถโดยสารไฟฟ้า ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
@ดันตอกเข็มทางด่วน 'Double Deck เปิดประมูล มอเตอร์เวย์ M9,ต่อขยายโทลล์เวย์
ซึ่งตามแผนงานกระทรวงคมนาคม แบ่งออกเป็น การขนส่งทางถนน จำนวน 10 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 203,027.65 ล้านบาท เบิกจ่ายในปี 2568 จำนวน 20,597.11 ล้านบาท โดยเป็น โครงการของกทพ. 2 โครงการ ได้แก่ ทางพิเศษ Double Deck เป็นการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น ระยะทาง 17 กม. มูลค่าทั้งโครงการ 34,800 ล้านบาท เบิกจ่ายปี 68 จำนวน 7,250 ล้านบาท ดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ 2562 โดยเจรจากับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เป็นผู้ลงทุน
และ ทางพิเศษฉลองรัฐส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. มูลค่าทั้งโครงการ 23,987.75 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 2,131.32 ล้านบาท ลงนามสัญญากับ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD แล้ว อยู่ระหว่างนำร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อสร้างปี 68-70 เปิดบริการปี 71
โครงการของกรมทางหลวง 8 โครงการ ได้แก่ ก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำ ริมถนนวิภาวดีรังสิต (ระยะที่ 3) มูลค่าทั้งโครงการ 2,610 ล้านบาท เบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 1,566 ล้านบาท , มอเตอร์เวย์ สาย M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.920 กม. มูลค่า 3,092.90 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 814.39 ล้านบาท
มอเตอร์เวย์ M5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต -บางปะอิน (ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ) ระยะทาง 22 กม. มูลค่า 31,358 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 78 ล้านบาท ครม.อนุมัติแล้วอยูอยู่ในขั้นตอนประมูลคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน ( PPP Gross Cost ) เปิดให้บริการปี 73
มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก ช่วงทางยกระดับบางขุนเทียน -บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. มูลค่า 56,035 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 2,126.50 ล้านบาท ครม.อนุมัติแล้วอยูอยู่ในขั้นตอนประมูลคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน( PPP Net Cost) ครม.อนุมัติแล้วอยูอยู่ในขั้นตอนประมูลคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน
มอเตอร์เวย์ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตกช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ในส่วนของงานโยธา ระยะทาง 34.1 กม. มูลค่า 15,862 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 967.4 ล้านบาท อยู่ระหว่างนำเสนอครม. เพื่อขออนุมัติโครงการกำหนดเปิดให้บริการปี 73
มอเตอร์เวย์ M9 เชื่อมวงแหวนตะวันตก-ตะวันออก มูลค่า 4,101 ล้านบาทตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 250.50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมี โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมมอเตอร์เวย์ M6 -ทล. 32 มูลค่าทั้งโครงการ 5,495 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 275 ล้านบาท อยู่ระหว่างนำเสนอครม. เพื่อขออนุมัติโครงการกำหนดเปิดให้บริการปี 72 และ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางยกระดับบนทล. 338 มูลค่าทางโครงการ 25,690 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 5,138 ล้านบาท
ด้านขนส่งทางบก มี 1 โครงการ ของขสมก. คือการจัดหารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) จำนวน 1,520 คัน มูลค่า 15,355.60 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 368.4 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของทีโออาร์ เพื่อนำเสนอครม. ขอความเห็นชอบและเข้าสู่กระบวนการประมูลในช่วงเดือนมี.ค. 68. กำหนดรับมอบรถ3 งวด โดยงวดแรก เดือนต.ค. 68 จำนวน 500 คัน งวด2 เดือน พ.ย. 68 จำนวน 500 คัน งวด3 เดือน ธ.ค. 68 จำนวน 520 คัน
ส่วนขนส่งทางอากาศ 1 โครงการ คือ ก่อสร้างต่อความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินชุมพร มูลค่า1,500 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายปี ปี 68 จำนวน 300 ล้านบาท
@ลงทุน”รถไฟ-รถไฟฟ้า” 17 โครงการใหม่
สำหรับการขนส่งทางรางในปี 68 มีโครงการใหม่จำนวน 17 โครงการ วงเงินรวม 673,852 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 35,874 ล้านบาท โดยมีรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. 3 โครงการคือ รถไฟฟ้าสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) มูลค่า 41,811.72 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย ปี 68 จำนวน 14.70 ล้านบาท , ระบบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้ามแยกฉลอง มูลค่า 35,350.20 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย ปี 68 จำนวน 7.70 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนการออกแบบหารือแนวทางและรูปแบบการดำเนินโครงการค่ายเปิดให้บริการเดือนธ.ค. ปี 74
และ ระบบขนส่งมวลชนจ.เชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์- แยกแม่เหียะสมานสามัคคี มูลค่า 31,122.63 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 60 ล้านบาท เปิดให้บริการเดือนพ.ค.ปี75
@เทกระจาดประมูลทางคู่เฟส 2 กว่า 3 แสนล้านบาท
ด้านรฟท. ถือว่ามีการลงทุนมากที่สุด โดยมีรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วง รังสิต-มธ.ธรรมศาสตร์ มูลค่า 6,473 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 179 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา มูลค่า 15,176 ล้านบาท ครม.เห็นชอบแล้วเตรียมขั้นตอนประมูลก่อสร้าง
ส่วนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ประมูลไปแล้ว 1 เส้นทางคือ ขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 29,748 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 6,267.87 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อีก 6 เส้นทางได้แก่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบล มูลค่า 44,095.36 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 4,482.17 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย มูลค่า 81,143.24 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 7,967.47 ล้านบาท, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 7,77290 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 887.09 ล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฏร์ธานี มูลค่า 30,422.53 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 2,937.67 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา มูลค่า 66,270.51 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 6,513.16 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ มูลค่า 68,222.14 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 6,404.37 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการจัดหารถสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) พร้อมอะไหล่ จำนวน 946 คัน มูลค่า 2,460 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอครม. เพื่อดำเนินการจะซื้อจะจ้างโดยคาดว่าจะได้รับมอบรถในปี 71 และโครงการ ออกแบบผลิตรถไฟต้นแบบโดยเทคโนโลยีต่างประเทศ มูลค่า 2,270.40 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 113 ล้านบาท
และมีรถไฟสายใหม่ เชื่อม 2 สนามบินฝั่งอันดามัน MR 9 ช่วงท่านุ่น -ท่าอากาศยานภูเก็ต มูลค่า 14,712 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 17.67 ล้านบาท, รถไฟสายใหม่ เชื่อม 2 สนามบินฝั่งอันดามัน MR9 ช่วง ทับปุด-กระบี่ มูลค่า 17,201 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 22.70 ล้านบาท
@สภาพัฒน์ติง ทางคู่เฟส 2 ลงทุนเยอะ แต่ใช้ไม่คุ้มค่า
การลงทุนรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอสภาพัฒน์ฯพิจารณา ก่อนเสนอครม. ซึ่งคณะอนุกรรมการสภาพัฒน์ฯมีข้อคิดเห็นหลายประเด็น ทั้ง ความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการระยะแรก ที่พบว่า ทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ล่าช้าถึง 5 ปี ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ยังอยู่ระหว่างปรับแบบ ประเมินความ ล่าช้าถึง 8 ปี อีกทั้งและช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ พบล่าช้า 4 ปี
ส่วนการใช้ประโยชน์ทางคู่ ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ โดย ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ใช้งานเพียง 48.8% ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ใช้งานที่ 75.6% เท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ยังไม่จูงใจให้เอกชนเปลี่ยนมาขนส่งทางราง
“ดังนั้น คมนาคมและรฟท.ควรพิจารณาปรับกรอบแนวคิดการพัฒนาทางคู่ที่ใช้ Infrastrcture-Led Development เป็น Market-Leg Development และพิจารณาการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน บริหาร CY และถึงมีแผนการซ่อมบำรุง รวมไปถึงแผนด้านการตลาด เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่าและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานเต็มประสิทธิภาพ”
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”ยอมรับ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มีผลต่อภาระงบประมาณ ซึ่งได้ให้หน่วยงาน จัดเรียงลำดับความสำคัญโครงการที่จำเป็นและช่วยเพิ่มขีดความสามารถการขนส่ง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง
ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 ขณะนี้ขั้นตอนรอเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ ซึ่งกรมขนส่งทางราง ได้อธิบายต่อสภาพัฒน์ฯแล้ว ส่วนตัวได้พูดคุยกับทางเลขาฯสภาพัฒน์แล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุมัติและเสนอครม.เร็วนี้ ส่วนการจัดกลุ่มประมูลให้รฟท.พิจารณา
“รถไฟทางคู่ มีความจำเป็น เพราะทางเดี่ยว รถเสียเวลาจอดรถหลีกส่วนเมื่อสร้างทางคู่เสร็จแล้ว เพื่อใช้รางได้คุ้มค่าต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ โดยมี พ.ร.บ.ขนส่งทางราง เป็นเครื่องมือ”
หลังจากนี้ คงต้องติดตามว่า สารพัดโปรเจ็กต์คมนาคม”ครม. อิ๊งค์”จะกดปุ่มเดินหน้าในปีนี้ ได้ตามเป้าหรือไม่!!!