xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน R-Map ลงทุนกว่า 1.38 ล้านล้าน พัฒนา "รถไฟ-ไฮสปีด" ทั่วประเทศเชื่อมโครงข่ายไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • แผน R-Map มุ่งขยายโครงข่ายรถไฟและรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ
  • • เน้นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไร้รอยต่อ
  • • เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน
  • • ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเป็น 13.27% และการขนส่งสินค้าทางรางเป็น 6.45%


คจร.เคาะแผนพัฒนาระบบรางรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) เพิ่มโครงข่ายรถไฟ-ไฮสปีดทั่วประเทศ ลงทุน 10 ปี มูลค่ากว่า 1.38 ล้านล้านบาท เปิดเอกชนร่วมลงทุน เป้าเพิ่มสัดส่วนระบบรางเป็น 13.27% ขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 6.45%

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) และมอบหมายกระทรวงคมนาคมกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามผลการศึกษาฯ ต่อไป

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้มีการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566

โดยได้จัดทำแผนงานการพัฒนาจำนวน 9 กลุ่ม ระหว่างปี 2566-2575 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,389,096.50 ล้านบาท ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ วงเงินลงทุน 337,019 ล้านบาท 2. การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็งสูง วงเงินลงทุน 631,044 ล้านบาท 3. การพัฒนาโครงการรถไฟสายใหม่ วงเงินลงทุน 410,640 ล้านบาท 4. การพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม/แหล่งอุตสาหกรรม วงเงินลงทุน 10,363.5 ล้านบาท 5. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย 6. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งสินค้า 7. โครงการด้านรถจักรล้อเลื่อน 8. การพัฒนาระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า 9. การพัฒนาโรงซ่อมบำรุง โดยข้อ 5-9 ยังไม่สรุปค่าลงทุน

โดยแบ่งช่วงเวลาการพัฒนาเป็นระยะเร่งด่วน เริ่มก่อสร้างภายในปี พ.ศ. 2566-2570 รวมวงเงินลงทุน 617,116 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ 6 โครงการ ระยะทางรวม 1,290 กม. วงเงินลงทุนรวม 218466 ล้านบาท ได้แก่ 1. ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงินลงทุน 29,7848 ล้านบาท 2.  ช่วงสุราษฏร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงินลงทุน 57,375 ล้านบาท 3. ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงินลงทุน 37,527 ล้านบาท 4. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงินลงทุน 24,294 ล้านบาท 5. ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 ม. วงเงินลงทุน 62,860 ล้านลาท 6. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงินลงทุน 6,662 ล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูง 1 โครงการ ได้แก่ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงินลงทุน 252,348 ล้านบาท

โครงการรถไฟสายใหม่ 3 โครงการ ระยะทางรวม 403 กม. วงเงินลงทุนรวม 130,721 ล้านบาท ได้แก่ 1. ช่วง ชุมพร-ระนอง (MR8-แลนด์บริดจ์) ระยะทาง 91 กม. วงเงินลงทุน 48,000 ล้านบาท 2. ช่วงสุพรรณบุรี-นครหลวง-ชุมทางบ้านภาชี 3. รถไฟเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ดอนสัก- สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต-กระบี่ ระยะที่ 1 มี 3 ช่วง คือ ช่วงสุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น ระยะทาง 1587 กม. วงเงิน 28,857 ล้านบาท, ช่วงท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต (MR9) ระยะทาง 18 กม. วงเงิน 14,712 ล้านบาท, ช่วงทับปุด-กระบี่ ระยะทาง 68 กม. วงเงิน 17,201 ล้านบาท

โครงการรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม/แหล่งอุตสาหกรรม 5 โครงการ ระยะทางรวม 14.40 กม. วงเงินรวม 3,261.38 ล้านบาท ได้แก่ 1. เขตอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ระยะที่ 1 ช่วงสถานีนาผักขวง และ SSI’s Distribution ระยะทาง 2.40 กม. วงเงิน 398.89 ล้านบาท 2. นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ลำพูน ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 1,021.29 ล้านบาท 3. นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร กฟผ.แม่เมาะ ระยะที่ 1 ช่วงสถานีแม่เมาะ-CY กฟผ.แม่เมาะ ลำปาง ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 80 ล้านบาท 4. นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก ระยอง ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 960.20 ล้านบาท 5. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 1,071 ล้านบาท


ระยะกลาง เริ่มก่อสร้างภายในปี พ.ศ. 2571-2575 รวมวงเงินลงทุน 784,300 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ 2 โครงการ ระยะทางรวม 201 กม. วงเงินลงทุนรวม 118,553 ล้านบาท ได้แก่ 1. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,838 ล้านบาท 2. ช่วงวงเวียนใหญ่-บางบอน ระยะทาง 12 กม. วงเงิน 61,715 ล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ ระยะทางรวม 591 กม. วงเงินลงทุนรวม 378,696 ล้านบาท ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงิน 376,606 ล้านบาท 2. กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงิน 102,090 ล้านบาท

โครงการรถไฟสายใหม่ 5 โครงการ ระยะทางรวม 553 กม. วงเงินลงทุนรวม 279,919 ล้านบาท ได้แก่ 1. รถไฟเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ดอนสัก- สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต-กระบี่ ระยะที่ 2 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก ระยะทาง 78 กม. วงเงิน 19,240 ล้านบาท 2. ช่วงอุบลราชธานี-ด่านช่องเม็ก (MR5) ระยะทาง 87 กม. วงเงิน 15,009 ล้านบาท 3. ช่วงกรุงเทพฯ-และปริมณฑลด้านใต้ ลาดกระบัง-สมุทรสาคร (MR10) ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 90,100 ล้านบาท 4. ช่วงกรุงเทพฯ-และปริมณฑลด้านใต้ ฝั่งตะวันตก สมุทรสาคร-ปากท่อ (MR10) ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 49,184 ล้านบาท 5. ช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ (MR4) ระยะทาง 256 กม. วงเงิน 106,386 ล้านบาท

โครงการรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม/แหล่งอุตสาหกรรม 3 โครงการ ระยะทางรวม 19.60 กม. วงเงินรวม 7,132.12 ล้านบาท ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย สระบุรี ระยะทาง 5.10 กม. วงเงิน 1,748.85 ล้านบาท 2. นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร สมุทรสาคร ระยะทาง 6 กม. วงเงิน 3,791.18 ล้านบาท 3. เขตอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ระยะที่ 2 ช่วงสถานีนาผักขวง-เขตอุตสาหกรรมเหล็กสหวิริยาฯ-ท่าเรือประจวบ ระยะทาง 8.50 กม. วงเงิน 1,592.09 ล้านบาท


และกลุ่มโครงการที่สมควรได้รับการพิจารณาพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการเดินทางประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ 4 โครงการ ได้แก่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระยะทาง 536 กม. ช่วงชุมทางคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ ระยะทาง 174 กม. ช่วงชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กม. ช่วงบางบอน-มหาชัย-ปากท่อ ระยะทาง 76 กม.

โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 โครงการ ได้แก่ ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. ช่วงหัวหิน-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 4234 กม. ช่วงสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 355 กม.

โครงการรถไฟสายใหม่ 16 โครงการ ระยะทางรวม 2,527 กม. และโครงการรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม/แหล่งอุตสาหกรรม 3 โครงการ ระยะทางรวม 100 กม.

ทั้งนี้ การศึกษาเห็นว่ารูปแบบจะมีทั้งที่รัฐลงทุนเองประมาณ 747,659 ล้านบาท และเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนประมาณ 641,437 ล้านบาท โดยกรมการขนส่งทางรางคาดการณ์ประโยชน์จากการดำเนินการตามแผนระบบรางว่าจะทำให้ปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้า การเดินทางด้วยรถไฟปัจุบันอยู่ที่ 5.33% จะเพิ่มขึ้นเป็น 11.19% ในปี 2570 และ 13.27% ในปี 2575 และผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงจะมีสัดส่วน 0.86% ในปี 2570 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.74% ในปี 2575 ส่วนการขนส่งสินค้าทางรางปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.55% จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.45% ในปี 2570 และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติในปี 2575


กำลังโหลดความคิดเห็น