- • โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเฟส 2 เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมไทย-ลาว-จีน
- • มีแผนเร่งโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2, รถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยาย, ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ เสนอ ครม.ปี 2568
- • ยืนยันโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นจริง
- • สนข.หารือกับ DP World เพื่อดึงลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์
“สุริยะ” เผยคุย "สศช." เร่งพิจารณา "ไฮสปีด" ไทย-จีน เฟส 2 ก่อน "นายกฯ" บินเยือนจีน ชี้เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อลาว-จีน จัดคิวโปรเจกต์รถไฟทางคู่เฟส 2-สีแดงต่อขยาย-ทางด่วน-มอเตอร์เวย์ ชง ครม.ปี 68 ลั่น "แลนด์บริดจ์" เกิดแน่ สนข.หารือกลุ่ม DP World สนลงทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 2568 กระทรวงคมนาคมมีแผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยจะเร่งดำเนินการพัฒนาทุกมิติเพื่อเพิ่มศักยภาพ เพิ่มความปลอดภัยและลดต้นทุนในการขนส่ง โดยด้านขนส่งทางราง ได้แก่
1. โครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงินโครงการ 15,176.21 ล้านบาท โดยเป็นการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและขออนุมัติกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ (สศช.) แผนงานเปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2571
2. โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,310.84 กม. วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 297,926 ล้านบาท ซึ่งผ่านขั้นตอนสอบถามความเห็นหน่วยงาน ทางสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบมาแล้ว ส่วนกระทรวงการคลังรับรายงานว่าจะให้ความเห็นตอบกลับภายในสัปดาห์หน้า เหลือสภาพัฒน์ที่รอกระบวนการการนำเสนอบอร์ดสภาพัฒน์พิจารณา โดยทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการลงทุนรถไฟทางคู่ระยะ 2 ต่อสภาพัฒน์ รวมถึงหลังก่อสร้างทางคู่แล้วจะมีแนวทางในการให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ทางเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน โดยจะขับเคลื่อนภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.54 กม. วงเงินลงทุน 81,143.24 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.60 กม. วงเงินลงทุน 44,095.36 ล้านบาท,เส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 44.50 กม. วงเงินลงทุน 7,772.90 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง168.20 กม. วงเงินลงทุน 30,422.53 ล้านบาท ,เส้นทาง สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321.00 กม. วงเงินลงทุน 66,270.51 ล้านบาท , เส้นทาง เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189.00 กม. วงเงินลงทุน 68,222.14 ล้านบาท
3. โครงการจัดหารถสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) พร้อมอะไหล่ จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,460 ล้านบาท
@คุย "สศช." เร่งพิจารณา "ไฮสปีด" ไทย-จีน เฟส 2 ก่อน "นายกฯ" บินเยือนจีน
สำหรับ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. มูลค่า 341,351.42 ล้านบาท สถานะปัจจุบันอยู่ขั้นตอนเสนอต่อกระทรวงการคลังและ สภาพัฒน์ให้ความเห็นชอบ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนเฟสแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาไปแล้ว หากไม่ทำเฟส 2 การต่อเส้นทางไปที่หนองคาย และต่อไปยัง สปป.ลาวและจีน ตามเป้าหมายไม่ได้จะทำให้เส้นทางใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมาได้หารือกับสภาพัฒน์แล้วว่านายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปประเทศจีน ดังนั้นขอให้ทางสภาพัฒน์เร่งสรุปโครงการ เพื่อจะได้มีความมั่นใจกับรัฐบาลในการไปหารือกับจีนด้วย
ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์และทางด่วนที่เตรียมเสนอ ครม.ในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ 1. มอเตอร์เวย์ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 15,862 ล้านบาท 2. โครงการมอเตอร์เวย์ M9 เชื่อมวงแหวนตะวันตก-ตะวันออก วงเงิน 4,101 ล้านบาท 3. ทางหลวงแนวใหม่เชื่อมมอเตอร์เวย์ M6-ทล.32 วงเงิน 5,495 ล้านบาท
4. โครงการทางพิเศษ จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ของ กทพ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. มูลค่าประมาณ 16,757 ล้านบาท 5. โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก หรือทางด่วนตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) จำนวน 1,520 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 15,355.60 ล้านบาท
@พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ดันเปิดทางเอกชนร่วมเดินรถ
นอกจากนี้ จะผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้สามารถบังคับใช้ได้ภายในเดือน มิ.ย. 2568 เพื่อให้นโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย ซึ่งจะสามารถจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมฯ ส่วนเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ของเอกชนจากการลดค่าโดยสารเหลือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายนั้นจะใช้ประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งประเมินแล้วมีเพียงพอ และในปีต่อไปอาจจะมีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาช่วยจ่ายชดเชย
นอกจากนี้จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือ จะทำให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ทางรถไฟเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับการลงทุนก่อสร้าง
@เร่ง พ.ร.บ. SEC ขับเคลื่อน “แลนด์บริดจ์” นโยบายเรือธง
นายสุริยะกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ว่า
แลนด์บริดจ์ถือเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล ตั้งแต่ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเดินทางไปโรดโชว์กับประเทศต่างๆ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ทั้งทางตะวันออกกลาง ยุโรป และจีน ขณะนี้มั่นใจว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่ม บริษัท Dubai Port World (DP World) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และ Supply Chain ยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีเรือถึง 1,700 ลำ และบริหารท่าเรือในอีกกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ได้มีการทำงานร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และมีความคืบหน้าไปพอสมควร
ส่วนการขับเคลื่อนโครงการนั้น จะต้องมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้พ.ศ…. หรือ พ.ร.บ. SEC ขณะนี้ ได้ประสานกับ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อประชุมพิจารณามอบอำนาจให้ สนข. และจะผลักดันให้เกิดภายในรัฐบาลชุดนี้