xs
xsm
sm
md
lg

ดีเซลแพง ท่องเที่ยว-ส่งออกโต ดันดัชนีขนส่งทางถนน Q4 ปี 67 เพิ่ม 2.7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.เผยดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาส 4 ปี 67 เพิ่มขึ้น 2.7% เหตุน้ำมันดีเซล ค่าจ้าง ดอกเบี้ยทรงตัวสูง และภาคท่องเที่ยว ส่งออกขยายตัว ทำให้มีความต้องการเพิ่ม ระบุค่าบริการเพิ่มทุกหมวดสินค้า ทั้งอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง เกษตรกรรมและประมง หากแบ่งตามโครงสร้างรถ รถบรรทุกวัสดุอันตราย เพิ่มสูงสุด ตามด้วยรถตู้บรรทุก รถบรรทุกเฉพาะกิจ รถบรรทุกของเหลว รถกระบะบรรทุก และรถพ่วง คาดไตรมาส 1 ปี 68 ยังขยายตัวสูงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 2.7% จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่ม 3.1% เพราะค่าขนส่งผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ เพิ่มสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง เพิ่ม 0.9% จากค่าขนส่งถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง เพิ่ม 0.6% จากค่าขนส่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสูงขึ้น ส่วนดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเฉลี่ยทั้งปี 2567 เพิ่มขึ้น 1.5%

ทั้งนี้ หากแยกดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ พบว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เพิ่มขึ้น 1.7% เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกประเภทรถที่ใช้บริการขนส่งสินค้า อาทิ รถบรรทุกวัสดุอันตราย เพิ่ม 3.8% รถตู้บรรทุก เพิ่ม 2.8% รถบรรทุกเฉพาะกิจ เพิ่ม 2.2% รถบรรทุกของเหลว เพิ่ม 2.2% รถกระบะบรรทุก เพิ่ม 1.9% และรถพ่วง เพิ่ม 0.7% ขณะที่ค่าบริการขนส่งรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.5%

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้น ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุน โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศอยู่ระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราค่าจ้างและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง และภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการขนส่งสินค้ามีมากขึ้น ค่าบริการขนส่งสินค้าจึงปรับเพิ่มขึ้น

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกสินค้า ประกอบกับต้นทุนสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2567 และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูง และยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (พนักงานขับรถบรรทุก) อาจจะปรับขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้ค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของภาครัฐ และความเสี่ยงจากการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความไม่แน่นอนการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ไม่เป็นไปตามที่คาดได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทย จะต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลให้มากขึ้น โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการให้บริการ เพิ่มศักยภาพบุคลากร และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งมอบและผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น