xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก 67 ลุ้นนิวไฮ 10 ล้านล้าน “พาณิชย์”เคาะเป้าปี 68 โต 2-3% ผนึกเอกชนลุยค้าขาย-โชว์แผนรับมือทรัมป์ 2.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • การส่งออกของไทยปี 2567 ขยายตัวเกินเป้าหมาย
  • • แม้สถานการณ์โลกไม่แน่นอน มีทั้งความขัดแย้งและมาตรการกีดกันทางการค้า
  • • การส่งออกไทยไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกที่ย่ำแย่


ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่การส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ผ่านมา กลับไม่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้เกินไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ในการผนึกกำลังกันขับเคลื่อนการส่งออก แก้ไขปัญหาการส่งออก จนทำให้การส่งออกเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้อีกปีหนึ่ง

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดประชุมร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ทูตพาณิชย์ทั่วโลก และพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประเมินการส่งออก ปี 2567 แล้ว เห็นตรงกัน จะทำได้เกินไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% อย่างแน่นอน

โดยการส่งออกในช่วง 11 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) ทำได้แล้วมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 9,695,455 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,032,550 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 337,096 ล้านบาท

หากการส่งออกในเดือน ธ.ค.2567 ที่เหลืออีก 1 เดือน ถ้าทำได้อย่างน้อยประมาณ 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อรวมกับยอด 11 เดือน จะทำให้ทั้งปีส่งออกได้สูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.2% คิดเป็นเงินบาทประมาณ 10 ล้านล้านบาท และจะเป็นตัวเลขส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเกิดในปี 2565 ที่ส่งออกได้มูลค่า 287,400 ล้านเหรียญสหรัฐ


คาดส่งออกปี 68 ยังโตได้ดี

สำหรับการส่งออกในปี 2568 เห็นตรงกันว่า จะยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะเติบโตที่ 2-3% โดยหากส่งออกเพิ่ม 2% จะมีมูลค่า 305,315.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10.38 ล้านล้านบาท และถ้าเพิ่ม 3% มูลค่า 308,307.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10.482 ล้านล้านบาท

โดยปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในปี 2568 มาจากการทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางของไทย (สินค้า PCB) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต จากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น


เปิดกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีโอกาส

ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกได้ดีในปี 2568 พบว่า สินค้าเกษตร มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร จากอิทธิพลของลานีญาตั้งแต่กลางปี 2567 โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรน่าจะลดลง จากอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้น จากการยกเลิกมาตรการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ รวมทั้งค่าเงินบาท ที่แข็งค่ากว่าปีก่อน จะเป็นตัวลดขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย

ทั้งนี้ คาดว่า ปัญหาโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่เคยชะงักงัน น่าจะผ่อนคลายลง เพราะความรุนแรงของปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือตะวันออกกลาง จะมีระดับทรงตัว และอาจจะลดลง แต่มาตรการทางการค้า มีแนวโน้มเข้มงวดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมเกษตรต้องปรับตัวและบริหารจัดการต้นทุนให้แข็งขันได้


สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย โดยผู้ส่งออกจะเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะเริ่มมีสัญญาณชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป เนื่องจากการออกมาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งจะสร้างอุปสรรคในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนในระยะต่อไป และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ตามการปรับลดลงของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

ทั้งนี้ ไทยจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น Wafer หรือแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สอดรับกับกระแสการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว

โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รถยนต์ EV และเคมีภัณฑ์ แต่ต้องเฝ้าระวังสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทั้งไทยและจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เหมือนกัน และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง


เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญมีความเสี่ยง

ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะเติบโตปานกลาง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สร้างความเสี่ยงให้เงินเฟ้อกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง และจะมีการการชะลอการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายลง อาจจะไม่เห็นการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมากนัก ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่ และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะกลับมารุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

ส่วนตลาดอาเซียน คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการส่งออก จากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนและฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก และคว้าโอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง


เปิดแผนขับเคลื่อนส่งออก

นายพิชัยกล่าวว่า ในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะรักษาตลาดส่งออกหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเพิ่มเติมตลาดรองที่มีศักยภาพ อาทิ เอเชียใต้ (อินเดีย) ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา โดยได้มีการจัดทำกิจกรรม เพื่อขยายตลาดไว้พร้อมแล้ว

นอกจากนี้ มีแผนที่จะเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับทุกประเทศ โดยที่ทำสำเร็จแล้ว คือ FTA ไทย-เอฟตา กำลังเจรจากับสหภาพยุโรป (อียู) เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ หากสำเร็จจะเพิ่มโอกาสในการทำตลาดและขยายการส่งออกได้อีกมาก

ขณะเดียวกัน ไทยได้ตั้งเป้าหมายเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งขณะนี้มีการเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) หากโรงงานเดินเครื่องได้ ก็จะเพิ่มยอดส่งออกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ปรับแผนรีแบรนด์ Thai SELECT จะปรับเป็นการให้ดาวเหมือนมิชลิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารและวัตถุดิบอาหาร การสร้าง Thailand Brand การันตีสินค้าให้กับ SME ซึ่งจะทำให้ SME ส่งออกได้มากขึ้น การผลักดัน Soft Power ด้านอาหาร สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม การทำงานเชิงรุกระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับสินค้าไทย และกระทรวงพาณิชย์ จะปรับรูปแบบการทำงานเป็นยุค 80 ต่อ 20 ที่จะเน้นการส่งเสริมมากขึ้นเป็น 80% และใช้กฎระเบียบ กฎหมาย เหลือแค่ 20%


เตรียมรับมือ ทรัมป์ 2.0

สำหรับแผนรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อาทิ กรณีนโยบายทรัมป์ 2.0 นายพิชัย บอกว่า กระทรวงพาณิชย์ได้วางแผนทำงานเชิงรุกไว้แล้ว ทันทีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งในเดือน ม.ค.2568 เดือน ก.พ.2568 ก็จะจัดคณะผู้แทนไทยเดินทางไปสหรัฐฯ ทันที เพื่อไปหารือและเจรจาการค้า ไปอธิบายให้สหรัฐฯ เข้าใจว่า ที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นเพราะนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยและส่งออกกลับไป การปรับขึ้นภาษี ก็จะกระทบต่อนักลงทุนสหรัฐฯ เอง และเชื่อว่า ไทยจะไม่โดนปรับขึ้นภาษี เมื่อเทียบกับคู่แข่ง อย่างจีน และเวียดนาม ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน จะเร่งดึงดูดการลงทุนมาไทยมากขึ้น โดยมีแผนหารือกับญี่ปุ่น เพื่อชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่ญี่ปุ่นมีแผนขยายการลงทุนอยู่แล้ว และจะผลักดันให้ญี่ปุ่น กลับมาเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในไทยต่อไป


ปัจจัยเสี่ยงกระทบส่งออก

การส่งออกในปี 2568 แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตา ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลง จากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน

“ตอนนี้ ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าอีกแล้ว และแข็งไปเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ค่าเงินอ่อนค่าหมด ยกเว้นไทย โดยอยากเห็นค่าเงินอยู่ที่ระดับ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกได้มาก”นายพิชัยกล่าว


เอกชนมั่นใจส่งออกปี 68 โต 2-3% ทำได้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าส่งออกปี 2568 ที่ตั้งไว้ที่ 2-3% มีโอกาสทำได้สูง เพราะกระทรวงพาณิชย์จริงจัง และมาทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเห็นได้จากการส่งออกปี 2567 ที่มีโอกาสทำมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนการส่งออกในปี 2568 แม้จะมีแนวโน้มดี แต่ก็เป็นห่วงเรื่องเซอร์ไพร์สจากสหรัฐฯ ที่ยังอ่านไม่ออกว่าจะเป็นยังไง ถ้าโชคดี ไทยก็อาจไม่โดนอะไรมาก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2567 การส่งออกจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำได้ 3 แสนเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 10 ล้านล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่าน ที่ทำงานร่วมกันมา

ส่วนปี 2568 ที่ตั้งเป้าไว้ 2-3% มีโอกาสทำได้สูง เพราะกระทรวงพาณิชย์มีแผนทำงานร่วมกับภาคเอกชนชัดเจน จับต้องได้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากสหรัฐฯ เท่าที่ฟัง มีการทำแผนรับมือความเสี่ยงไว้แล้ว และยังจะไปพบกับสหรัฐฯ ทันทีที่รัฐบาลใหม่เริ่มทำงาน ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในส่วนของภาคเอกชน ต้องเตรียมพร้อม เตรียมรับมือ และหาทางลดต้นทุนไว้ล่วงหน้า เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น