เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากรัสเซีย ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2567 ว่าไทยจะเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป
โดยกลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเป็นขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก เป็นการรวมกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดยตัวย่อ BRICS มาจากอักษรตัวแรกของประเทศสมาชิกเดิม 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก่อนที่จะเพิ่มสมาชิกใหม่อีก 4 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และอิหร่าน เมื่อช่วงต้นปี 2567 ทำให้ขณะนี้ BRICS มีสมาชิกทั้งหมด 9 ประเทศ
ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS มีจุดประสงค์หลักในการคานอำนาจกับกลุ่มประเทศตะวันตกผ่านการสร้างระบบการเงินของตนเอง อาทิ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) กองทุนสำรองฉุกเฉิน (CRA) เพิ่มความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศโลกใต้ ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนของประเทศโลกเหนืออย่างธนาคารโลก สร้างระบบชำระและโอนย้ายเงินข้ามประเทศเป็นของตนเอง เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากระบบ SWIFT ของกลุ่มประเทศตะวันตก ไปจนถึงการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกใช้สกุลเงินท้องถิ่นของตนเอง หรือสกุลเงินใหญ่ของชาติสมาชิก เช่น หยวน เป็นต้น
สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม BRICS ในปี 2567 ได้มีการประชุม BRICS Plus Summit 2024 ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.2567 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ได้มีการออกแถลงการณ์ “ปฏิญญาคาซาน (Kazan Declaration)” มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
มีมติรับพันธมิตรหุ้นส่วน (Partner Countries) จำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา และอุซเบกิสถาน ซึ่งประเทศเหล่านี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัว แต่จะได้รับโอกาสในความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดวางตำแหน่งทางการเมือง แต่จะมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากประเทศสมาชิกเต็มตัว ได้แก่ สิทธิออกเสียงในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินช่วยเหลือจากกองทุนสำรองฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement : CRA) การขยายพันธมิตรทำให้ BRICS มีความสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งด้านขนาดเศรษฐกิจ ขนาดประชากร การค้า และการถือครองทรัพยากรพลังงานของโลก
โดยสาระสำคัญจากการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เป็นทางเลือก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศกับกลุ่ม BRICS กับประเทศคู่ค้า ปัจจุบันการค้าขายระหว่างกลุ่ม BRICS ด้วยกันเอง มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 15 (ข้อมูลจากปี 2565) โดยสกุลเงินหยวนเป็นสกลุเงินที่มีการใช้มากที่สุดซึ่งเป็นการชำระเงินค่าสินค้าระหว่างจีนและคู่ค้า และเพื่อชำระค่าสินค้าผ่านประเทศที่สาม เช่น อินเดียใช้เงินหยวนในการจ่ายค่าน้ำมันให้รัสเซีย (ข้อมูลของ SWIFT ในเดือน ส.ค.2567 รายงานว่า เงินหยวนถูกใช้ในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 5.95 เพิ่มขึ้นมาจากร้อยละ 1.9 ในปี 2564 ขณะที่การชำระเงินโดยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นสกุลเงินอันดับ 1 ของโลก มีสัดส่วนในการใช้ชำระเงินที่ ร้อยละ 84)
การพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศที่เป็นทางเลือก BRICS Pay ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินระหว่างประเทศโดยใช้ระบบ DCMS (Decentralized Cross-border message system) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา
การจัดตั้งตลาดซื้อขายธัญพืช หรือ BRICS Grain Exchange เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองได้โดยตรง ลดการพึ่งพาคนกลาง เนื่องจากประเทศสมาชิก BRICS ทั้ง 9 ประเทศมีบทบาทในฐานะผลิตธัญพืชคิดเป็นร้อยละ 42 ของการผลิตโลก และมีการบริโภคธัญพืชมากถึงร้อยละ 40 ของการบริโภครวมของโลก ทั้งนี้ ในเบื้องต้น BRICS Grain Exchange จะเริ่มจากการซื้อขายธัญพืช ก่อนที่จะขยายไปยังสินค้าประเภทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและโลหะ
กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ทำการวิเคราะห์การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกลุ่ม BRICS ของไทย จะมีผลในด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนอย่างไร โดยพบว่า ในแง่การค้าขายระหว่างประเทศจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้า เช่น ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องจักรกล ที่กลุ่ม BRICS นำเข้าจากไทยให้ขยายตัวมากขึ้น โดยจะเป็นโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ของไทย โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกกับประเทศสมาชิก BRICS ประมาณ 19.0%
สามารถเข้าสู่ตลาดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพราะกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและจำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากร รวมมากถึง 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (สัดส่วนร้อยละ 45.5)
การสร้างโอกาสทางการลงทุน ดึงดูดนักลงทุนจากกลุ่ม BRICS เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในด้านการผลิตและการบริการ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ โดยเฉพาะจีนที่เข้ามายื่นขอลงทุนกับ BOI หลายโครงการ ช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ จากจุดยืนความเป็นกลางและแสวงหาสันติภาพ เปิดกว้างพร้อมรับการค้าและการลงทุนจากทุกประเทศ การเป็นพันธมิตรในกลุ่ม BRICS เป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ หากดูในด้านการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม BRICS ที่มีสมาชิกทางการ 9 ประเทศ พบว่า ในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 52,437.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.0 ของการส่งออกรวม ขยายตัวร้อยละ 4.0 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และยางพารา
โดยตลาดสำคัญในกลุ่ม BRICS ตามสัดส่วน ได้แก่ จีน 61.5% อินเดีย 20.0% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 6.2% แอฟริกาใต้ 5.4% บราซิล 3.9% รัสเซีย 1.5% อียิปต์ 1.2% อิหร่าน 0.2% และเอธิโอเปีย 0.08%
ในด้านการสร้างโอกาสทางการลงทุน พบว่า จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงที่สุด ด้วยมูลค่า 159,387 ล้านบาท และจีนยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ตามข้อมูลชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจประเทศไทยของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้ามาลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง การบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง การรับจ้างผลิตสินค้า และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกด้วย
การทำงานของกลุ่ม BRICS มีลักษณะการทำงานคล้ายกรอบอาเซียน กล่าวคือ นอกจากการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้ว ยังมีการประชุมในระดับต่าง ๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้ จะเป็นโอกาสให้ไทยได้มีส่วนร่วมหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง