- • ปี 2568 ลงทุน 7,819 ล้านดอลลาร์
- • กลยุทธ์เน้น Drive-Decarbonize-Diversify (ขับเคลื่อน-ลดคาร์บอน-กระจายการลงทุน)
- • ตั้งเป้าปริมาณขายปิโตรเลียมปี 2568 ที่ 507,000 บาร์เรลต่อวัน
ปตท.สผ. เปิดแผนลงทุน 5 ปี (ปี2568-72) เตรียมงบลงทุนรวมกว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2568 ทุ่มงบลงทุนไว้ 7,819 ล้านดอลลาร์ ผ่านแผนกลยุทธ์ Drive-Decarbonize-Diversify พร้อมตั้งเป้าปริมาณปริมาณขายปิโตรเลียมในปี2568 อยู่ที่ 507,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน พร้อมสำรองงบประมาณ 5 ปีเพิ่มเติมอีก 1,747 ล้านดอลลาร์ รองรับธุรกิจใหม่ทั้งการลงทุนพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) และไฮโดรเจน
นางชนมาศ ศาสนนันทน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(มหาชน)(PTTEP)หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่าแผนการดำเนินงานปี 2568 ของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย (ปตท.สผ.) ภายใต้แผนกลยุทธ์ Drive-Decarbonize-Diversify เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี2593 รวมถึงขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) โดยจัดสรรงบประมาณประจำปี 2568 รวม7,819ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) จำนวน 5,299 ล้านดอลลาร์ สรอ. และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) จำนวน 2,520 ล้านดอลลาร์ สรอ.
เป้าหมายการดำเนินงานของบริษัทในปี2568ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งและขยายการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน ต่างประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
โดยให้ความสำคัญกับแผนงานหลัก ดังนี้ คือ 1.การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน โครงการผลิตหลักที่สาคัญเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการจี 2/61 (แหล่ง บงกช)โครงการอาทิตย์ โครงการเอส1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียและโครงการซอติก้าและโครงการยาดานาในประเทศเมียนมา ที่มีการนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เข้ามาใช้ในประเทศไทย อีกทั้งโครงการผลิตหลักในต่างประเทศ เช่นโครงการในประเทศมาเลเซีย และประเทศโอมาน โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 3,676 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30และร้อยละ 50ภายในปี 2573และ 2583ตามลาดับ โดยได้ตั้งงบประมาณสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2568 ทั้งสิ้นจำนวน 77 ล้านดอลลาร์ สรอ.
2.เร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระยะพัฒนา (Development Phase) ได้แก่ โครงการสัมปทาน กาชา โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 และโครงการพัฒนาในประเทศมาเลเซีย เช่น โครงการมาเลเซีย เอสเค405บี โครงการมาเลเซีย เอสเค417 และโครงการมาเลเซีย เอสเค438 เป็นต้น ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผนงาน โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจำนวนเงิน 1,464 ล้านดอลลาร์ สรอ.
3.เร่งดำเนินการสำรวจในโครงการปัจจุบันโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจ โครงการในระยะพัฒนา รวมถึงโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้วรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 127 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลของโครงการในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศเมียนมา
สำหรับงบประมาณ 5 ปี (ปี 2568 – 2572) ที่ได้จัดสรรไว้ เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนงาน โดยมีรายจ่ายรวม (Total Expenditure) 33,587 ล้านดอลลาร์ สรอ. แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 21,249 ล้านดอลลาร์ สรอ. และรายจ่ายดำเนินการ 12,338 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนปี2568 มีรายจ่ายรวม 7,819 ล้านดอลลาร์ สรอ. ,ปี2569 มีรายจ่ายรวม 7,666 ล้านดอลลาร์ สรอ. ,ปี2570มีรายจ่ายรวม 6,958 ล้านดอลลาร์ สรอ. ,ปี2571 มีรายจ่ายรวม 5,715 ล้านดอลลาร์ สรอ. และปี2572 มีรายจ่ายรวม 5,429 ล้านดอลลาร์ สรอ.
จากแผนงานและการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ปตท.สผ. คาดการณ์ปริมาณขายปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน ในปี2568 อยู่ที่ 507,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 2569 อยู่ที่ 541,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ,ปี 2570 อยู่ที่ 528,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ,ปี 2571 อยู่ที่ 585,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และปี 2572 อยู่ที่ 581,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยได้เริ่มดำเนินการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จึงได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (2568-2572) เพิ่มเติมจากงบประมาณข้างต้นอีกจำนวน 1,747 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต พร้อมกับการดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต่อไป