ปัจจุบันจีนได้ใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือ Cross Border E-Commerce (CBEC) ขายสินค้าจากจีนเจาะเข้าสู่ตลาดเมืองไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดเจน ก็มีแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม ที่ใช้ช่องทางนี้ ขายสินค้าให้กับคนไทย จนสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาดในเมืองไทยมากมาย ทำให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD มองในมุมกลับกันว่า ทำไมไทยไม่ใช้ช่องทางนี้ นำสินค้าไทยเข้าไปขายให้กับผู้บริโภคชาวจีนบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่ลงทุนน้อย แต่มีโอกาสมากกว่าช่องทางการค้าขายปกติ
เมื่อโจทย์เป็นอย่างนี้ ITD จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ ดำเนินการศึกษา “มิติการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce สู่ตลาดประเทศจีน” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME เพื่อการใช้ประโยชน์จาก CBEC สู่ตลาดประเทศจีน
โดยได้ศึกษาในหลายมิติ ทั้งการให้บริการโลจิสติกส์ (Logistic Flow) การชำระเงินระหว่างประเทศ (Financial Flow) และการเข้าสู่ตลาดจีน (Information Flow) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการขยายตลาดออกสู่ประเทศจีน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้า CBEC เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน และเข้าไปทำการค้าในตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น
เป้าหมายดัน SME ขายสินค้าจีน
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการนี้ว่า มีเป้าหมายเพื่อศึกษาปัญหา ขั้นตอน กฎระเบียบ และการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าของผู้ประกอบการไทยไปยังตลาดจีนผ่านช่องทาง CBEC และเสนอแนะแนวทางสนับสนุนของภาครัฐเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SME สามารถขยายตลาดออกสู่ประเทศจีน
ทั้งนี้ ยังจะหาแนวทางพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ ให้มีความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้า CBEC ในการส่งออกสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเข้าไปแข่งขันในตลาดจีนให้ได้มากยิ่งขึ้น และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องแนวทางการส่งเสริม SME ในการเข้าสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง CBEC
นำเสนอผลการศึกษาให้ SME
หลังใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในที่สุดผลการศึกษา ก็ได้ข้อสรุปออกมา และ ITD ได้จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษา โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce (CBEC) สู่ตลาดประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา
โดยนายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ ITD นำเสนอผลการศึกษาว่า ผลการศึกษาที่ได้ออกมา จะเป็นคู่มือหรือแนวทางที่จะช่วยให้ SME ที่ต้องการขายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน มีโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะ SME ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศแบบปกติ อย่างการส่งออก ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ ในการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคชาวจีนได้ ด้วยการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จีนเปิดช่องเอาไว้ เป็นการใช้ประโยชน์จากช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ที่จีนริเริ่ม นำสินค้าของ SME ไทย ไปขายให้ผู้บริโภคชาวจีน เหมือนกับที่จีน นำสินค้ามาขายให้กับผู้บริโภคชาวไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ตอนนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน เช่น TEMU นำสินค้าจีนเข้ามาขายในไทย ผู้บริโภคคนไทยสามารถกดซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ได้เลย แล้วจีนก็ส่งสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ให้กับผู้บริโภคคนไทย ซึ่งเดิมไม่มีการเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท แต่ปัจจุบันเก็บแล้ว ส่วนจีน ไม่เก็บภาษีสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท ส่วนการซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวจีน กำหนดไว้ 1 ปี ซื้อได้ไม่เกิน 2.6 หมื่นหยวน หรือประมาณ 1.22 แสนบาท
ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการ SME ไทย สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ โดยนำสินค้าไทยขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน โดยปัจจุบันมีหลายแพลตฟอร์มมาก เช่น Tmall และ JD เป็นต้น โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เข้ามาขายสินค้าได้ ซึ่ง SME ไทย ก็สามารถเข้าไปใช้ได้ เหมือนกับที่จีน ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทย
ขายผ่าน CBEC ปี 66 สูงถึง 2.7 ล้านล้าน
นายวิมลกล่าวว่า ผลการศึกษา พบว่า จีนเปิดรับสินค้าจากต่างประเทศผ่านรูปแบบ CBEC มีมูลค่าในปี 2566 สูงถึง 548,300 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตในอัตราตัวเลขสองหลักในปี 2567 โดยสินค้าที่นำเข้า มีทั้งสินค้าแบรนด์เนม ของใช้ส่วนตัว ของทานเล่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม แฟชั่น และหัตถกรรม โดยอนุญาตให้สินค้าที่อยู่ในบัญชีอนุญาต (Positive List) กว่า 1,500 พิกัดศุลกากร (HS code) สามารถนำเข้าผ่านเขตปลอดอากรนำร่อง CBEC ที่มีอยู่ทุกมณฑลของประเทศจีน โดยยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับนำเข้า และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราพิเศษ คือ ร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติ ที่เก็บอยู่ 13% รวมถึงสินค้าที่นำเข้าไม่ต้องขอเอกสารประกอบใบอนุญาตนำเข้าครั้งแรก ซึ่งช่วยลดขั้นตอนด้านเอกสารลงเป็นอย่างมาก
“การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน หรือ CBEC จึงเป็นหนึ่งในรูปแบบในการขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ที่หลายประเทศเลือกใช้ ผู้ประกอบการ SME ไทย ก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าว เป็นกลไกนำร่องดำเนินธุรกิจ เพื่อขยายตลาดจำหน่ายสินค้าของตนไปสู่ตลาดประเทศจีน แทนที่รูปแบบการค้าแบบทั่วไป และจะทำให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน สามารถขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน เช่น Tmall และ JD เป็นต้น”นายวิมลกล่าว
เปิดกลุ่มสินค้าที่มีโอกาส
สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีโอกาส เช่น กลุ่มผลไม้สด สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารอนาคต สินค้ามูลค่าสูงอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าต่อยอดเชิงวัฒนธรรม และ Soft Power เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนอยู่แล้ว
ทำไมจีนถึงส่งสินค้าได้เร็ว
สำหรับปัญหาใหญ่ของ SME ไทย ก็คือ การขนส่งสินค้า จะทำอย่างไรให้ส่งเร็ว ถึงมือผู้บริโภคได้โดยเร็ว ซึ่งผลการศึกษาในเรื่องนี้ ร.ท.ดร.พันธ์รบ ราชพงศา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา ITD ได้บอกถึงสิ่งที่จีนดำเนินการว่า จีนได้แก้ไขปัญหานี้ ด้วยการตั้งเขตปลอดอากรนำร่อง CBEC ซึ่งปัจจุบัน มีเป็นร้อย ๆ แห่งทั่วทั้งประเทศจีน ทำให้การส่งสินค้าทำได้เร็วขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะเอาสินค้ามาพักไว้ที่นี่ เมื่อมีคำสั่งซื้อ ก็จะเปิดโกดัง เอาสินค้าออกไปส่งได้ทันที ทำให้ส่งได้รวดเร็ว
ต่อมา เมื่อการซื้อขายออนไลน์ในจีนอิ่มตัว จีนได้ใช้วิธีเดียวกันนี้ นำสินค้าไปเก็บไว้ในเขตปลอดอากรในประเทศต่าง ๆ ในไทยก็มี แล้วเมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า จีนก็สามารถจัดส่งสินค้าได้ทันที และรวดเร็วเช่นเดียวกัน
ชงตั้ง Fulfillment Center
นายวิมลกล่าวอีกว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ ได้เสนอการใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งทางถนนและระบบรางสำหรับ CBEC เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง CBEC จีน-อาเซียน โดยเสนอให้จัดตั้ง CBEC Fulfillment Center หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ศูนย์เก็บและกระจายสินค้า ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพิจารณาพื้นที่ชายแดนที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคายหรืออุดรธานี จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร ที่มีเชื่อมต่อกับจีนผ่านเส้นทาง R3A รถไฟลาว-จีน R12 และ R9 ตามลำดับ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่หนึ่งแห่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ สามารถลอกเลียนแนวทางที่จีนใช้ในการจัดตั้งเขตปลอดอากรนำร่อง CBEC มาใช้เป็นแนวทางสำหรับจัดตั้ง CBEC Fulfillment Center ในประเทศไทย
“จะนำผลการศึกษาเสนอให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กรมศุลกากร เพื่อช่วยกันผลักดันให้มีการจัดตั้ง Fulfillment Center ในไทย เพื่อให้ SME ใช้ประโยชน์ในการนำสินค้าไปวางไว้ เมื่อจีนสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ก็สามารถที่จะใช้ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับจีน ทำการส่งสินค้าไปให้ผู้บริโภคชาวจีนได้ทันที”
โดยยกตัวอย่าง เช่น หาก Fulfillment Center ที่เชียงของ ตรงนี้ห่างจากโม่ฮาน มณฑลยูนนาน เพียง 220 กิโลเมตร เวลา SME จะขายสินค้าให้ผู้บริโภคชาวจีน ก็เอาไปนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มที่เปิดช่องให้ไว้ แล้วใช้โลจิสติกส์ในประเทศขนสินค้าไปเก็บไว้ตรงนี้ เวลามีคำสั่งซื้อ ก็ใช้โลจิสติกส์ไทยหรือจีนส่งไปให้ผู้บริโภคในจีน ส่วนที่อุดรธานีหรือหนองคาย สามารถเชื่อมเส้นทางโลจิสติกส์ผ่านรถไฟลาว-จีนได้ เวลาส่งสินค้าไปจีน ก็ง่าย
ผลักดันใช้ CBEC ด้วยเวทีจับคู่ธุรกิจ
นอกเหนือจากการนำเสนอช่องทางการขายสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว ITD ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยเชิญผู้ซื้อจากจีน ทั้งออนไลน์ ออนไซต์ จำนวน 25 ราย เช่น JD โตว่อิน หรือ TikTok มาเจาจากับผู้ประกอบการ SME ไทย เพื่อนำสินค้าไปขายผ่านช่องทาง CBEC โดย ITD ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คัดเลือกสินค้าจาก SME ที่สมัครมาเยอะมาก โดยคัดเหลือ 70 รายการ และนำไปเสนอให้ผู้ซื้อจีน ปรากฏว่า มีการเจรจาจับคู่กันได้เป็นจำนวนมาก มียอดสั่งซื้อเกิน 50 ล้านหยวน หรือประมาณ 235 ล้านบาท
แนะนำแนวทางใช้ประโยชน์ CBEC
อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ ITD ได้เชิญบริษัทชั้นนำของจีนในประเทศไทย มาบรรยายแนะนำแนวทางการใช้ประโยชน์จาก CBEC ในมิติการเข้าสู่ตลาดจีน การขนส่งและการเงิน ได้แก่ 1.การเข้าสู่ตลาดจีน (Information Flow) โดยผู้แทนจากบริษัทโต่วอินประเทศไทย (TIKTOK จีน) แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าไทยสู่จีน 2.การให้บริการโลจิสติกส์ด่วน (Logistic Flow) โดยผู้แทนจากบริษัท SF Express 3.การชำระเงินระหว่างประเทศ (Financial Flow) โดยผู้แทนจาก ICBC ประเทศไทย และจัดกิจกรรม Mini Business Matching แนะนำผู้ซื้อจากเขตปลอดอากร CBEC และศูนย์แสดงและจัดจำหน่ายสินค้าของจีน ที่สนใจนำเข้าสินค้าไทยเพื่อจำหน่ายผ่านช่องทาง CBEC มาร่วมเสวนาทั้งจากเขตปลอดอากรนำร่องคุนหมิง หนานหนิง อี้อูและไห่หนานด้วย
โดยสรุป SME ที่ต้องการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคชาวจีน ทุกวันนี้ มีช่องทาง CBEC อยู่ แต่ SME ส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่ทราบว่ามีวิธีการนี้อยู่ และยังเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก สามารถเริ่มต้นได้ทันที โดย ITD ย้ำว่า ได้ทำการศึกษามาแล้ว เป็นช่องทางที่ใช้ได้จริง ทำได้จริง สร้างรายได้ ได้จริง ๆ ตอนนี้ ประตูเปิดกว้างแล้ว ใครที่ยังมองไม่เห็น ก็ขอให้พิจารณาดู โอกาสขายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน และโอกาสทำเงินจากผู้บริโภคชาวจีน อยู่ใกล้แค่มือเอื้อมถึง