รฟท.ชงบอร์ดขยายเวลาก่อสร้างงานโยธา รถไฟไทย-จีน 3 สัญญา ช่วง นวนคร-บ้านโพ , ช่วงดอนเมือง-นวนคร , ช่วงพระแก้ว-สระบุรี เหตุส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ปมติดเวนคืนและรื้อย้ายท่อน้ำมัน ลากยาวไปเสร็จ ก.พ. 70 ขณะที่ทั้งโครงการสร้างคืบ 38% ล่าช้า 39%
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการรถไฟฯ (บอร์ดรฟท.) วันที่ 19 ธ.ค. 67 จะมีการเสนอขออนุมัติขยายเวลาทำการตามสัญญาและแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) งานโยธา จำนวน 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ และ สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี เพื่อชดเชยการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างล่าช้า
โดยสัญญา 4-3 ช่วง นวนคร-บ้านโพ ระยะ ทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่นฯ, บจ.เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 1,080 วัน ขอขยายเวลา 452 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญา วันที่ 23 ม.ค. 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 2569 ซึ่งถือเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 2 จากก่อนหน้านี้ เคยขยายเวลาก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 163 วัน จากระยะเวลาก่อสร้างเริ่มงาน (NTP) วันที่ 30 ส.ค. 2564 สิ้นสุด วันที่ 13 ส.ค. 2567 เป็นวันที่ 23 ม.ค. 2568 โดย ณ เดือนเม.ย. 2567 มีผลงานสะสม 31.560% ล่าช้า 67.190% (แผนงาน 98.750%)
เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างได้ตามเงื่อนไขสัญญา ซึ่งเป็นพื้นที่เวนคืน โดย ณ เดือน พ.ย. 2567 มีผลงานสะสม 44.590% ล่าช้า 55.070% (แผนงาน 99.660%)
ทั้งนี้ให้ปรับผังการเชื่อมประสานงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับการขยายสัญญาหลัก โดยผู้รับจ้างฯ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือค่าทดแทน หรือสิทธิประโยชน์ใด ๆรวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายภายใต้กรอบของสัญญาของที่ปรึกษาควบคุมงานฯ (CSC) และที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ (PMC) รวมทั้งการรถไฟฯ ไม่เสียประโยชน์และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอื่น ๆ แต่อย่างใด
สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท มี บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็น ผู้รับจ้าง ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 1,080 วัน เริ่มงานวันที่ 20 ม.ค. 2565 สิ้นสุด วันที่ 3 ม.ค. 2568 ขอขยายเวลา 641 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญาเดิม วันที่3 ม.ค. 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 7 ต.ค. 2569 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบรายละเอียดโครงสร้างและตำแหน่งตอม่อ รวมถึงเพื่อหลีกเลี่ยงแนวท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท บาฟส์ ขนส่งทางท่อ จำกัด (BPT) และ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THappline)
โดย ณ เดือน พ.ย. 2567 มีผลงานสะสม 1.450 % ล่าช้า 98.010 % (แผนงาน 99.460%)
และ สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท มี บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็น ผู้รับจ้าง ระยะเวลา ก่อสร้างตามสัญญา 1,080 วัน เริ่มงานวันที่ 20 ม.ค. 2565 สิ้นสุด วันที่ 3 ม.ค. 2568 ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างอีก 780 วัน นับจากวันสิ้นสุด วันที่ 3 ม.ค. 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 23 ก.พ. 2570
เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างได้ตามเงื่อนไขสัญญา ทำให้มีผลกระทบต่อการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนงาน
โดย ณ เดือน พ.ย. 2567 มีผลงานสะสม 8.570 % ล่าช้า 90.270% (แผนงาน 98.840 %)
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม.สถานะเดือนพ.ย. 2567 ความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา มีผลงาน 38.070% ล่าช้า 39.984% (แผนงาน 78.054%)