22 ธ.ค.67 ดอนเมืองโทลล์เวย์ ขึ้นค่าผ่านทาง 5-10 บาท ตามสัญญา ใช้ประจำต้องรีบจัด คูปองลด15% มีขายถึง 21 ธ.ค.นี้เผยปริมาณรถเฉลี่ย 1.15 แสนคัน/วัน ยังต่ำกว่าก่อนโควิด 25% เหตุ ศก.ยังไม่ดี ท่องเที่ยวฟื้นไม่เต็มที่ คาดปี68 จราจรโต 5% ลั่นพร้อมชิงสัมปทานต่อขยายโทลล์เวย์ และงานระบบ M82
ตามที่ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ แจ้งว่า ในวันที่ 22 ธ.ค.2567 เวลา 00.01 น. จะมีการปรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 เป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค. 2567 - 21 ธ.ค.2572 โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง-ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท ขณะที่การปรับค่าผ่านทางครั้งล่าสุด เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือในวันที่ 21 ธันวาคม 2562 และตามสัญญา จะมีการปรับราคาอีกครั้งในปี 2572-2577 ซึ่งทำให้ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ราคา 100 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ราคา 45 บาท รวม 145 บาท
นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า คาดว่าหลังปรับค่าผ่านทาง อาจจะมีผลต่อปริมาณจราจรที่จะปรับลดลงบ้างในช่วงแรกประมาณ 4-5% จากนั้นจะปรับตัวได้ ซึ่งในการปรับค่าผ่านทางมีผลทำให้รายได้ของบริษัทฯเพิ่มขึ้น และเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ทางบริษัทฯ ได้จัดโปรฯ ส่วนลดเป็นพิเศษสูงสุด 10% ให้ผู้ใช้ทางสามารถซื้อคูปองใช้ลดค่าผ่านทางได้ เพิ่มความคุ้มค่าในการเดินทาง ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.-21 ธ.ค. 2567 จากปกติที่มีการจำหน่ายคูปองซึ่งจะได้ส่วนลด 5% อยู่แล้วสำหรับผู้ที่ใช้เส้นทางเป็นประจำ
โดยปริมาณจราจรบนดอนเมืองโทลล์เวย์ปัจจุบัน เฉลี่ยที่ 115,000 คัน/วัน ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ประมาณ 25% โดยก่อนโควิดมีปริมาณจราจรเฉลี่ยที่ 147,000 คัน/วัน และคาดว่าอีก 2 ปี ปริมาณจราจรจึงจะกลับไปเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด โดย คาดว่าปริมาณจราจรในปี 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 120,000 คัน/วัน เติบโตจากปี 2567 ประมาณ 5% และคาดรายได้เพิ่มขึ้นตามปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนไป รวมถึงการท่องเที่ยว และปริมาณการเดินทางที่สนามบินดอนเมืองยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจากที่ติดตามปริมาณรถจากสนามบินเข้าสู่โครงการฯ ช่วงก่อนโควิด มีประมาณ 15,000 คัน/วัน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8,000 คัน/วัน ประกอบกับ โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ถือเป็นทางเลือกในการเดินทาง โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วนที่รถติดบนถนนวิภาวดีรังสิตจะ เลือกใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์ ต้นทาง-ปลายทาง ที่ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที นอกจากนี้ยังมีรถไฟที่เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางด้วย
ขณะที่ มีสัดส่วนการชำระค่าผ่านทาง ด้วยบัตร Easy-Pass/ M-Pass ชำระค่าผ่านทางประมาณ 45% และใช้เงินสด ประมาณ 50% ที่เหลือใช้ คูปอง บัตร EMV และ QR Coad
@ลั่นพร้อมชิงสัมปทาน”โทลล์เวย์ต่อขยาย-บริหารระบบ M 82”
นายศักดิ์ดากล่าวว่า ขณะนี้บริษัท ได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการของภาครัฐที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ที่จะออกมาหลังจากนี้ ได้แก่ โครงการส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาทการลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost และ การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ซึ่งถือเป็นงานที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญโดยตรง มีความพร้อมในการดำเนินการทันที ซึ่งในส่วนของระบบ O&M มอเตอร์เวย์ M 82 วงเงินลงทุนไม่มาก และ มาร์จิ้นไม่มากนัก เชื่อว่า บริษัทรายใหญ่ อาจจะไม่สนใจเท่าไร ส่วน M5 มีงานก่อสร้างด้วยซึ่งจะจับมือกับพาร์ทเนอร์ด้านก่อสร้างเข้ามาร่วมงานกัน
นอกจากนี้ ยังสนใจโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 15.8 กม. มีมูลค่าการลงทุน ประมาณ 20,701 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการลงทุน และ มอเตอร์เวย์ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม.วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติ
“สัญญาดอนเมืองโทลล์เวย์ เหลือ 9 ปีกว่า ต้องหาโครงการใหม่เข้ามาเติมเต็ม โดยจะเน้นที่บริษัทมีความชำนาญ ส่วนหากต้องมีก่อสร้างด้วยก็จะหาพาร์ทเนอร์มาร่วมกัน ซึ่งงานสัญญาร่วมกับภาครัฐ บริษัทมองการบริหารในระยะยาวมากกว่ารับจ้างก่อสร้าง4-5 ปี เพื่อสร้างความยั่งยืนในรายได้”