- • ไทยเป็น National Focal Point ของข้อตกลงดังกล่าว
- • ข้อตกลงนี้เปิดโอกาสให้ไทยมีส่วนร่วมในการสำรวจอวกาศระดับโลก
- • ถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศสำหรับประเทศไทย
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การสำรวจอวกาศระดับนานาชาติด้วยการลงนามเข้าร่วมข้อตกลง Artemis Accords ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านพลเรือนกับสหรัฐอเมริกาในการสำรวจอวกาศ ตามที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามข้อตกลงเมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่มีมติให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยลงนามและหน่วยประสานงานหลักของประเทศไทย (National Focal Point) ลงนามใน Artemis Accords โดยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ได้จัดพิธีลงนามอย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพมหานคร โดยมี
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เป็นประธาน Mr. Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ประธานกรรมการ สทอภ. ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ผู้แทนจาก NASA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน Artemis Accords เป็นข้อตกลงสำคัญที่มุ่งเน้นการสำรวจและใช้งานอวกาศอย่างสันติ
โดยลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา อิตาลี ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ร่วมลงนามเป็นสมาชิก ปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าวมีสมาชิกร่วมลงนามแล้วจาก 50 ประเทศ และประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 51 ของโลก สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศที่สองที่ร่วมลงนามใน Artemis Accords ต่อจากประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ Artemis Accords ยังทำหน้าที่เสริมสร้างความร่วมมือใน Artemis Program เพื่อการสำรวจดวงจันทร์และอวกาศร่วมกับ NASA ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระดับสากล เป็นโอกาสของประเทศไทยในการสร้างโอกาสในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ว่า “การลงนามในข้อตกลง Artemis Accords ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่เวทีอวกาศระดับโลก ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ และสร้างโอกาสให้นักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการไทยในการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมเสริมศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลกอย่างยั่งยืน”
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า หลังจากนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศอย่างเต็มตัว ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งศึกษาและร่วมหารือกับ NASA อย่างใกล้ชิด พร้อมกับตั้งทีมงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านกฎหมาย ด้านการต่างประเทศ และด้านเทคนิค เพื่อนักวิจัยและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนในประเทศไทยมีส่วนร่วมในโครงการ Artemis อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง “GISTDA จะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานหลักให้กับประเทศ” และจะเสนอโครงการ Artemis Thailand ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ การลงนามครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศไทยในเวทีโลก ทั้งในด้านวิชาการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศให้ก้าวสู่ยุคแห่งการสำรวจอวกาศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน