“พาณิชย์”สบช่อง ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเมนู “ต้มยำกุ้ง” ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ชวนผู้ประกอบการร้านอาหาร ใช้วัตถุดิบ GI รังสรรค์เมนูอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่ม เผยอย่างเมนูต้มยำกุ้ง สามารถใช้กุ้งก้ามกรามบางแพ และวัตถุดิบ GI อื่น ๆ มาทำ และเสิร์ฟในรูปแบบไฟด์ไดนิ่งได้ รวมถึงเมนูอาหารอื่น ๆ ที่สามารถใช้วัตถุดิบ GI สร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกัน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเมนู “ต้มยำกุ้ง” ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ว่า เป็นการตอกย้ำความชื่นชอบและชื่นชมเมนูต้มยำกุ้งของไทยของคนทั่วโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ใช้วัตถุดิบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร โดยเฉพาะอาหารไฟน์ไดนิ่ง ที่เน้นความวิจิตร ความพิถีพิถันในการปรุง การจัดจาน และการบริการ เพื่อมอบประสบการณ์การกินอาหารที่แตกต่างในระดับพรีเมียม
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างต้มยำกุ้ง สามารถใช้กุ้ง GI คืเอ กุ้งก้ามกรามบางแพ จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ปี 2566 มาใช้เป็นวัตถุดิบได้ เพราะกุ้งก้ามกรามบางแพ มีลักษณะเด่นที่เกิดจากสภาพดินในพื้นที่ และแหล่งน้ำที่มีทั้งน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำจืด จึงทำให้กุ้งก้ามกรามบางแพ มีเปลือกสีน้ำเงินมันเงา เนื้อแน่น เมื่อปรุงสุกจะมีรสชาติหวาน มีมันกุ้งมาก และไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งกุ้งก้ามกรามบางแพ ถือได้ว่าเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศที่ไม่เพียงแต่จะชูรสชาติ ความอร่อยให้เมนูต้มยำกุ้งอาหารโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนผู้ผลิตสินค้า GI ไทยอีกด้วย
นอกเหนือจากกุ้งก้ามกรามบางแพ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบหลักให้กับเมนูต้มยำกุ้งแล้ว ยังมีสินค้า GI อีกมากมาย ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเมนูต้มยำกุ้ง เช่น ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และมะนาวเพชรบุรี เป็นต้น รวมถึงข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่นำมาใช้เป็นข้าวบริโภคกับต้มยำกุ้งได้ ส่วนเมนูอาหารอื่น ๆ ก็สามารถที่จะใช้วัตถุดิบ GI มาใช้ทำอาหาร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารได้
“ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารระดับไฟน์ไดนิ่ง หรือร้านอาหาร Thai SELECT ที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับเมนูอาหาร สามารถใช้วัตถุดิบ GI ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก นำมาใช้ทำอาหาร เพื่อสร้างความแตกต่าง เพราะไม่เพียงแต่อัปราคาได้ แต่ยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคที่จะได้บริโภคอาหารที่ดี มีคุณภาพ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกและผลิตวัตถุดิบ GI ด้วย”นายนภินทรกล่าว
ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขี้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 216 สินค้า สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 77,000 ล้านบาท โดยสินค้า GI ประมาณ 85% เป็นสินค้าประเภทอาหาร เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงถือได้ว่าสินค้า GI เป็นแหล่งต้นน้ำด้านวัตถุดิบคุณภาพที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร