สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) โชว์ผลสำเร็จการจัดทำหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา (LTD) รุ่นที่ 1 กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร การแพทย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล เตรียมนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอภาครัฐ ภาคเอกชน ไปใช้ขับเคลื่อน สร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยถึงผลการศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มองไปข้างหน้าเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสในอนาคต (Future-Proof Policy Recommendations) ภายใต้การศึกษาอบรมหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา รุ่นที่ 1 (Leadership Program on Trade and Development Strategy) หรือหลักสูตร LTD ว่า การจัดทำหลักสูตรนี้เป็นไปตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้จัดทำหลักสูตร LTD เพื่อสร้างผู้นำที่มีความสามารถในการออกแบบยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ ผ่านการระดมสมอง ระดมความคิดเห็นของภาครัฐและภาคเอกชนที่มาเข้าร่วมหลักสูตร โดยปีนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร การแพทย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างงานและเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
สำหรับการจัดหลักสูตร LTD รุ่นที่ 1 มีผู้สมัครจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นระดับผู้บริหารของหน่วยงานจากหลากหลายอาชีพ มีประสบการณ์การทำงาน มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงในแวดวงราชการ เอกชน ผู้ประกอบการด้านการค้า การลงทุน จำนวน 81 คน ได้มาอบรม เรียนรู้ ทำงานร่วมกัน และได้ออกแบบยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 4 อุตสาหกรรมร่วมกัน จนเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยจากนี้ ITD จะมีการนำข้อเสนอแนะ เสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนต่อไป
นายสุภกิจกล่าวว่า ผลการศึกษาของกลุ่มที่นำเสนอด้านการท่องเที่ยว ได้ข้อสรุปว่า จะผลักดันการท่องเที่ยวทั่วไทย และยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเห็นว่าการท่องเที่ยวของไทย มีการเติบโตต่อเนื่อง จาก 15 ล้านคนในปี 2553 เพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2562 มีส่วนแบ่ง 20% ของ GDP แต่พอเกิดโควิด-19 ก็จะชะลอตัวลง และเริ่มฟื้นตัวในปี 2566 เติบโตกว่า 30% แต่ยังไม่กลับไปถึงช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อหัว ลดลง 15% จากปี 2560 และเมื่อดูจำนวนนักท่องเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่เป็นจีนและเอเชีย 72% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และเริ่มพบว่า นักท่องเที่ยวจากจีน เริ่มลดลง ถือเป็นสัญญาณความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ
ทั้งนี้ ในภาคการท่องเที่ยว มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มความสำคัญกับคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าจำนวน พัฒนาเมืองสำคัญเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ เชื่อมโยงท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหาร การคมนาคม และการแพทย์ และเชื่อมโยง Soft Power กับการท่องเที่ยว เช่น อาหาร ศิลปะ และเทศกาล รวมทั้งใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่ทันสมัยผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชัน SABUY-SABUY เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวจากทุกหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
สำหรับภาคการเกษตร ผลการศึกษามองในเรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไทยสู่การเป็นครัวของโลกและห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืน โดยเห็นว่าภาคเกษตรเป็นพื้นฐานของสังคมและเศรษฐกิจ มีแรงงานมากกว่า 19 ล้านคน 9.5 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรกรรม 44% ของประเทศ ปัจจุบันภาคเกษตรมีสัดส่วน 8.8% ใน GDP เติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9% ได้มีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างภาครัฐและนโยบายการเกษตรเพื่ออนาคต โดยรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและอาหาร เช่น หน่วยงานด้านการตลาด การวิจัยนวัตกรรม และการแปรรูปสินค้าเกษตร มาอยู่ภายใต้สังกัดเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอย่างครบวงจร และการพัฒนาระบบ Super Smart Agri Map ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลจากการคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการติดตามราคาสินค้าเกษตรแบบเรียลไทม์ การให้คำแนะนำในการผลิตสินค้าเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการ เช่น โปรตีนทางเลือก หรืออาหารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์ มีเป้าหมายการพัฒนาไทยสู่ศูนย์กลางธุรกิจผ่าตัดเสริมความงามระดับโลก ซึ่งไทยมีจุดแข็งจากด้านการท่องเที่ยว และบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน จึงเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และความงามจากทั่วโลกได้ โดยเสนอผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงาน Thailand Aesthetic Surgery Agency (TASA) ที่จะทำหน้าที่ออกใบอนุญาตแก่แพทย์ต่างชาติ การควบคุมมาตรฐาน ระบบการจัดการข้อร้องเรียน การจัดตั้งกองทุนพัฒนาแพทย์เชิงรุก เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยให้แพทย์และศัลยแพทย์ในไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ AI , หุ่นยนต์ , และเทคโนโลยีการแพทย์ล้ำสมัย และการผ่อนปรนเรื่องการนำเข้าแพทย์ต่างชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง การจัดทำแคมเปญผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดเสริมความงามระดับโลก เพื่อสร้างการรับรู้และดึงดูดคนเข้ามาใช้บริการ รวมไปถึงการผลักดันการส่งออกเครื่องมือทางการแพทย์ที่ผลิตในไทย
ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัล ผลการศึกษามองในเรื่องเป้าหมายการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยเทคโนโลยี Generative AI เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพราะเห็นว่า SMEs มีสัดส่วนถึง 99.5% ของธุรกิจทั้งหมดในไทย จ้างงาน 12.8 ล้านคน คิดเป็น 71.8% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 35.2% ของ GDP แต่พบว่า SMEs มีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้อย่างเต็มที่ จึงมีข้อเสนอแนะให้พัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลให้กับ SMEs ทั้งการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แรงงาน การสนับสนุนทางการเงิน การใช้โซลูชัน IT ที่เหมาะสม โดยเสนอจัดทำโครงการ “TH ai prospers” ที่มุ่งพัฒนา SMEs ไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการโดยมีอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอุตสาหกรรมนำร่อง โดยใช้ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค โอกาสทางการค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายโอกาสทางการตลาด อาทิ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงตลาดระดับโลก ซึ่งหากทำสำเร็จ จะช่วยให้ GDP ของ SMEs จาก 35% เพิ่มเป็น 38% ภายในปี 2570 และเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีคลาวด์ของ SMEs จาก 11% เป็น 50% ภายในปี 2573 เพิ่มจำนวน SMEs ใช้ AI ให้ถึง 70% ภายในปี 2568 เพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจาก 60% เป็น 90% ภายในปี 2573 และฝึกอบรมแรงงาน 100,000 คนให้มีทักษะด้าน AI และคลาวด์ ภายในปี 2570 รวมถึงสามารถลดต้นทุนการดำเนินงาน SMEs ที่ใช้บริการคลาวด์อย่างน้อย 15%