xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” เบรกทางด่วน N1 “เกษตร-งามวงศ์วาน” ค่าอุโมงค์แพง ลงทุนไม่คุ้มค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ชะลอทางด่วนทดแทน N1 "เกษตร-งามวงศ์วาน" มูลค่า 49,220 ล้านบาท ออกไปก่อน เผยรูปแบบอุโมงค์ ค่าก่อสร้างสูง ผลตอบแทนการลงทุนติดลบ ชี้ไม่ได้ล้ม แต่หากอนาคตมีวิธีที่เหมาะสม สามารถนำมาปัดฝุ่นได้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า จะชะลอโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1  (ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน -ถนนประเสริฐมนูกิจ) ที่ กทพ..สรุปผลศึกษาแล้ว โดยเห็นว่าโครงการมีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ กรณีก่อสร้างเป็นระบบทางด่วนใต้ดิน

ทั้งนี้ กทพ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจการลงทุนโครงการต่างๆ จะต้องมีความคุ้มทุนทางการเงิน ไม่ใช่คุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากจะให้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ รัฐต้องหาเงินมาสนับสนุน ซึ่งจากการพัฒนารูปแบบการก่อสร้างทางด่วนสาย N1 เป็นอุโมงค์รวมถึงการบำรุงรักษาในอนาคตพบว่าไม่คุ้มทุนอย่างมาก ดังนั้นจำเป็นต้องชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน

ขณะที่รูปแบบทางด่วนยกระดับ ตามการศึกษานั้นถือว่ามีความคุ้มค่าทางด้านการลงทุนและเศรษฐกิจมากกว่าซึ่งหากในอนาคตสามารถก่อสร้างในรูปแบบทางด่วนยกระดับได้ก็อาจจะมีการพิจารณานำเส้นทางนี้กลับมาทบทวนเพื่อดำเนินโครงการใหม่อีกครั้งได้


รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ได้มีมติรับทราบการชะลอโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 (ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ออกไปก่อนตามที่ กทพ.ได้รายงานผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการฯ ซึ่งแม้ โครงการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 19.20% แต่พบว่า ตัวเลขผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ เนื่องจากต้องก่อสร้างเป็นอุโมงค์ เพื่ดผลกระทบตามที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้มีค่าก่อสร้างสูงมาก


โครงการทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน -ถนนประเสริฐมนูกิจ หรือทางด่วนทดแทน N1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน และสิ้นสุดที่ถนนประเสริฐมนูกิจ โดยเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 บริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ระยะทางรวม 10.55 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 49,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 44,532 ล้านบาทค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,619 ล้านบาทค่าควบคุมงานก่อสร้าง 1,069 ล้านบาท

ล่าสุดมีการรับฟังความคิดเห็น ประชาชน ส่วนใหญ่คัดค้านขอให้ยกเลิกโครงการเนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงไม่คุ้มค่า และไม่แก้ปัญหาจราจรได้จริง นอกจากนี้ยังจะทำให้ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ มีความไม่ปลอดภัยสูง โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุภายในอุโมงค์


กำลังโหลดความคิดเห็น