- • เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 67 เพิ่มขึ้น 0.83%
- • สาเหตุหลักมาจากราคาผัก ผลไม้ น้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้น
- • เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
- • 10 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.26%
- • คาดการณ์เงินเฟ้อเดือน พ.ย. 67 จะยังคงเพิ่มขึ้น
- • คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 67 จะอยู่ในเป้าหมาย 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5%
เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 67 เพิ่ม 0.83% เหตุผัก ผลไม้ น้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้น บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน รวม 10 เดือนเพิ่ม 0.26% คาด พ.ย. ยังเพิ่มอีก ทั้งปีอยู่ในเป้า 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ต.ค. 2567 เท่ากับ 108.61 เทียบกับ ก.ย. 2567 ลดลง 0.06% เทียบกับเดือน ต.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 0.83% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้น เนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ต.ต.) เพิ่มขึ้น 0.26%
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 2567 ที่สูงขึ้น 0.83% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.95% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น กลุ่มอาหารสด เช่น ผักสด (ต้นหอม กะหล่ำปลี ผักชี ผักกาดขาว มะเขือ พริกสด กะหล่ำดอก) ผลไม้สด (เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม กล้วยหอม) ไก่สด ไข่ไก่ กุ้งขาว เนื้อสุกร และข้าวสารเจ้า กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟร้อน/เย็น น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ไก่ย่าง มะนาว น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม ปลาทู และอาหารโทร.สั่ง (Delivery) เป็นต้น
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 0.04% จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) และค่าถ่ายเอกสาร ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น แก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี) เป็นต้น
ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ต.ค. 2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2567 และเพิ่มขึ้น 0.77% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2566 เฉลี่ย 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 0.52%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง มาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต่ำกว่าปีก่อน ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลง และคาดว่าผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง