- • ปัญหา: จุดตัดทางรถไฟที่ "ตาคลี" เกิดปัญหา ชาวไร่อ้อยขอผ่อนปรนให้ใช้จุดตัดระดับดินในช่วงหีบอ้อย แทนสะพานข้ามทางรถไฟ
- • แนวทางแก้ไข: กระทรวงคมนาคมมอบกรมรางลงพื้นที่ตรวจสอบและศึกษาความเป็นไปได้ของการเปิดใช้จุดตัดระดับดิน
- • จุดยืน: ย้ำฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนของโครงการ
“คมนาคม”ถกแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ มอบกรมรางลงพื้นที่จุดตัด”ตาคลี” ทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ หลัง ชาวไร่อ้อย ขอผ่อนปรนเปิดใช้จุดตัดระดับดิน ในช่วงหีบอ้อย แทนสะพานข้ามทางรถไฟ ย้ำฟังความคิดเห็นยึดความปลอดภัยยั่งยืน
วันที่ 1 พ.ย. 2567นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยมีผู้แทนกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมประชุม
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ ขอผ่อนปรนให้เปิดใช้งานทางจุดตัดทางผ่านเสมอระดับ กม. 211+238.00 ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวไร่อ้อยและชาวบ้าน ให้สามารถใช้งานได้ในช่วงหีบอ้อยระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคมที่จะถึงนี้
ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟรูปตัวยู (U-Bridge) ที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดตัดทางผ่านดังกล่าวแล้วเสร็จและได้เปิดใช้งานแล้ว จึงทำการปิดใช้งานทางผ่านเสมอระดับเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถได้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาองค์กรของผู้บริโภค กรมทางหลวง สำนักขนส่งจังหวัดนครสวรรค์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ ณ บริเวณสะพานกลับรถรูปตัวยู เพื่อทดสอบบรรทุกเสมือนจริง และยืนยันความปลอดภัยในการใช้รถบรรทุกสินค้าเกษตรที่บรรทุกตามที่กฎหมายกำหนดว่าสามารถใช้งานสะพานกลับรถรูปตัวยูก่อนจะนำผลการทดสอบข้างต้นมาพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายสรพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางระบบราง โดยให้ความสำคัญถึงการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยในการเดินทางเรื่องจุดตัดและทางลักผ่านต่าง ๆ โดยมุ่งให้มีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วยการบูรณาการและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน มุ่งเน้นประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ