xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย” ขีดเส้น 30วัน จบปัญหาสินค้าห่วยนำเข้า พร้อมตั้งอนุกก.ดูแล SME เจอหางเลข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิชัย” ถกคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายนัดแรก เผยทุกหน่วยงานร่วมมือแก้ปัญหาจริงจัง ตั้งเป้าสำเร็จใน 30 วัน พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ช่วย SME ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า และแก้ปัญหานอมินี ระบุ TEMU เตรียมจดทะเบียนในไทยเร็ว ๆ นี้ กรมศุลกากร-อย.-สมอ.-สคบ. ยันเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้ามากขึ้น สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ได้มีการติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาในส่วนที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ พบว่าแต่ละหน่วยงานได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าตั้งแต่ด่านศุลกากร เพื่อป้องกันการนำเข้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐาน จนส่งผลกระทบต่อ SME และผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยและได้สั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

“การนำเข้าสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐาน และการทำธุรกิจของต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายไทย เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย และธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังช่วยกันแก้ปัญหา คาดว่า จะแก้ปัญหาได้สำเร็จในไม่เกิน 30 วัน และจะมีการประชุมคณะกรรมการอีกครั้งในเดือน ธ.ค.2567 ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ TEMU ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคไทย ล่าสุด ทราบว่า กำลังจะเข้ามาจดทะเบียนธุรกิจในไทยแล้ว”นายพิชัยกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน คือ คณะอนุกรรมการแก้ปัญหา SME เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา SME ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน และส่งเสริมศักยภาพให้ SME ไทยสามารถทำธุรกิจแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ และคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหานอมินี เพื่อแก้ปัญหาคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยผิดกฎหมาย


นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลการ กล่าวว่า ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามากขึ้นกว่าเดิมที่มีความเข้มงวดอยู่แล้ว เพื่อสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ โดยได้สแกนสินค้านำเข้า 100% ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ ตรวจสอบ 30%

นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้แก้ไขกฎหมายการนำสินค้าติดตัว (ของใช้ส่วนตัว) เข้าไทยในกลุ่มสินค้านำร่อง คือ ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง จากเดิมให้นำสินค้าติดตัวในปริมาณที่กำหนดสำหรับใช้ภายใน 90 วัน แต่ได้แก้ไข้ใหม่โดยให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากเดิม เพื่อแก้ไขปัญหากองทัพมด และในเร็ว ๆ นี้ จะขยายไปยังกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นมา สมอ.ได้ยกเลิก Exempt 5 (สินค้าที่ สมอ. ควบคุม 144 รายการ สามารถนำเข้าได้ไม่ต้องขออนุญาต หากไม่ได้นำเข้ามาเพื่อจำหน่าย และไม่เกินจำนวนที่ สมอ.กำหนด) ทำให้การนำเข้าสินค้าควบคุม 144 รายการ ต้องขออนุญาตทุกกรณี ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด หรือนำเข้ามาเพียงไม่กี่ชิ้น

น.ส.ทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สินค้าที่ผลิตและนำเข้าเพื่อขายในประเทศ ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบก่อนวางขาย ยกเว้นสินค้าที่ อย. ดูแล ส่วนสินค้าที่ซื้อผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ และมีผู้ให้บริการขนส่ง นำส่งสินค้าถึงผู้บริโภคนั้น จะให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่า ตามพิธีการศุลกากร มีผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ ใครบ้าง และในอนาคต อาจทำความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม หรือปรับปรุงกฎหมายว่าการนำเสนอขายสินค้าต้องมีรายละเอียดของสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น