- • บางจากฯ ร่วมมือกับ CPF นำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของ CPF มาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (SAF)
- • คาดโครงการผลิต SAF เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยคาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 2-3 ปี
- • สหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้สายการบินใช้ SAF ผสมในน้ำมัน JET 1% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นแรงผลักดันให้เกิดการผลิต SAF เพิ่มขึ้น
- • ไทยยังไม่มีกฎระเบียบบังคับใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน
บางจากฯ จับมือ CPF นำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียในเครือCPF มาผลิต SAF “ชัยวัฒน์”บิ๊กบางจากลั่นโครงการผลิต SAF เสร็จมี.ค.68 จุดคุ้มทุน 2-3ปี เหตุอียูออกกฎบังคับสายการบินใช้SAFผสม 1%ในน้ำมันJET 1ม.ค.68 ส่วนไทยเริ่มต้นปี69 หนุนราคาSAFส่อขยับสูงขึ้น หลังจากปรับร่วงจาก90บาท/ลิตรมาอยู่ที่ 50บาท/ลิตร
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ BCP และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านความยั่งยืนทางธุรกิจในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วหรือ SAF โดยมี นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจากฯ และนางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ ลงนามเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ บางจากฯ และซีพีเอฟ จะร่วมกันบริหารจัดการการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหารและไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของซีพีเอฟและบริษัทในเครือ เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนต่อไป
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก กล่าวว่า สหภาพยุโรปกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันเชื้อเพลิง SAF ประมาณ1%กับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet Fuel) สำหรับสายการบินที่จะลงจอดในสนามบินของกลุ่มประเทศEU มีผลบังคับในวันที่ 1ม.ค. 2568 ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการบังคับให้ผสมน้ำมันSAFกับสายการบินในต้นปี2569 ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบิน
ความคืบหน้าโครงการผลิต SAF ของกลุ่มบางจาก ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจากพระโขนงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างตามแผนงานเสร็จไปประมาณกว่า 70% และจะเริ่มผลิตในเดือนมีนาคม 2568 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน บางจากคาดว่าจะสามารถบันทึกรายได้จากโครงการ SAF ตั้งแต่ไตรมาส 2/2568 เป็นต้นไป และคาดว่าจุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปี
ขณะที่ราคา SAF ในปัจจุบันปรับดลงมาอยู่ที่ 50บาท/ลิตร ลดลงจากเดิมที่อยู่ระดับ 90บาท/ลิตร เชื่อว่าเมื่อมีการบังคับให้สายการบินใช้SAFผสมในน้ำมันJET จะดันราคา SAFให้ขยับสูงขึ้นกว่านี้
สำหรับการจัดหาวัตถุดิบคือน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วป้อนให้โรงงานผลิตSAFนั้น กลุ่มบางจากได้มีการทำสัญญาซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหาร ร้านค้าชุมชนและรับซื้อจากประชาชนผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจาก ล่าสุดบางจากได้ทำสัญญากับCPFซึ่งเป็นครัวไทยรายใหญ่ระดับโลก ที่เข้าร่วมโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” นอกจากจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG แล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือที่ครอบคลุมด้าน ESG ซึ่งถือเป็นแกนหลักของความยั่งยืนในปัจจุบัน
ความร่วมมือระหว่างบางจากฯ และซีพีเอฟในครั้งนี้ นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียจากกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบ ยังส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผ่านการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารในเครือซีพีเอฟ เช่น เชสเตอร์, ห้าดาว กระทะเหล็ก ข้าวมันไก่ ไห่หนาน ฯลฯ เข้าร่วมโครงการ "ไม่ทอดซ้ำ" และ "ทอดไม่ทิ้งที่ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคราชการ เอกชน และผู้ประกอบการ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและส่งต่อน้ำมันปรุงอาหารเพื่อผลิต SAF มากกว่า 800 จุดทั่วประเทศ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อกายและดีต่อใจ ซึ่งความร่วมมือกับบางจากฯในครั้งนี้มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil : UCO) รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหาร และไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของซีพีเอฟที่มีโรงงานแปรรูปไก่ส่งออกปีละ 1แสนตัน มีการใช้น้ำมันปรุงอาหารเป็นจำนวนมาก ดังนั้นน้ำมันUCOจะส่งให้บางจากเพื่อนำไปผลิตน้ำมัน SAF ต่อไปนอกจากนี้ ยังมีแนวการศึกษาที่อาจมีการขยายผลไปยังธุรกิจของกลุ่มซีพีเอฟในต่างประเทศในอนาคต
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่ายังทรงตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากสงครามตะวันออกกลางยังไม่มีการขยายวงกว้าง แต่ต้องดูว่าทางโอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไรทั้งจีน และยุโรป
ส่วนการตัดสินใจขายแหล่งปิโตรเลียมYme ของ OKEA นั้น ทำให้ปริมาณกำลังการผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบันปรับลดลงมาบ้างอยู่ที่ระดับ 38,000 บาทต่อวัน ขณะเดียวกันทาง OKEA อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเข้าซื้อแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆเพิ่มเติม