- • เกิดเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) รถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด และเหตุรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) รถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุด ในเวลาไล่เลี่ยกัน
- • เหตุการณ์ดังกล่าวจุดกระแสกังวลและคำถามถึงความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล
- • อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบขนส่งสาธารณะ
- • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจสอบหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
- • ควรมีมาตรการเชิงรุกเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
หลังจากเกิดเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) รถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด และเหตุรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้หลายคนกังวลและมีคำถามถึงความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ซึ่งทางเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และสายสีชมพู ได้มีการหารือกับ บริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยได้มีการออกแบบล้อประคองเพิ่มระบบล็อกกันหลุด พร้อมเตรียมแผนทดสอบและทยอยปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสาร
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำโดยนายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. พาคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโรงงาน CRRC Puzhen Alstom Transportation System Co., Ltd. (บริษัท PATS) ที่เมืองอู๋หู (Wuhu) มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและประกอบรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) พร้อมทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรล Wuhu Rail Transit ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่ใช้ในประเทศไทย
@รฟม.มั่นใจมีความปลอดภัย
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. กล่าวว่า หลังเกิดเหตุล้อประคองหลุด รฟม.ได้มีการประสานด้านเทคนิคกับทางอัลสตรอม และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองมาโดยตลอด ซึ่งได้มีการดำเนินการแก้ไขและได้นำชุดล้อที่ออกแบบใหม่ติดตั้งกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จำนวน 1 ขบวน และมีการเริ่มทดสอบแล้ว ส่วนสีชมพูเพิ่งติดตั้งเสร็จ 1 ขบวน และจะเข้าสู่การทดสอบเช่นกัน
“รฟม.มีความมั่นใจว่าเมื่อได้รับการแก้ไขและปรับปรุงทางด้านเทคนิคเรียบร้อยจะมีความปลอดภัยและสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วต่อไป” นายสาโรจน์กล่าว
@แก้ทุกจุด "ติดนอตเพิ่มระบบล็อก 2 ชั้น และมีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ"
ผู้จัดการโรงงาน CRRC Puzhen Alstom ระบุว่า ล้อประคองของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดเกิดจากหลายปัจจัย บริษัทฯ จึงได้มีการออกแบบใหม่เพิ่มการป้องกันที่ครอบคลุมในทุกจุด ได้แก่ การปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปด้านในล้อประคอง, เพิ่มระบบล็อกจากเดิม เป็น 2 ชั้น, ติดเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ (Temperature Sensor) ในทุกล้อ กรณีเกิดความร้อนจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ควบคุม โดยมาตรฐานค่าความร้อนที่ 80 องศาเซลเซียส แต่มีการตั้งค่าไว้ที่ 60 องศาเซลเซียส ก็จะมีการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์แล้วเพื่อนำรถเข้าตรวจเช็กได้ในทันที
ด้านนายณัฐภัทริ์ อุณหคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ รฟม.กล่าวว่า ในการแก้ปัญหา รฟม.ร่วมกับผู้รับสัมปทานและซัปพลายเออร์ผู้ผลิตรถโมโนเรล ซึ่งได้มีการวิเคราะห์สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ล้อประคองของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดพบว่าจาระบีที่เป็นตัวช่วยหล่อลื่นลดเเรงเสียดทาน มีการเปลี่ยนสี เนื่องจากเกิดความร้อนจากการหมุนของตัวล้อซึ่งเมื่อเกิดความร้อนสูงขึ้น ทำให้ชิ้นส่วนเกิดการหดหรือขยายตัว
“ดังนั้น ทางอัลสตรอมจึงได้มีการวิจัยและออกแบบล้อประคองชุดใหม่ โดยมีการปรับเปลี่ยนวัสดุภายในดุมล้อ รวมถึงเพิ่มอุปกรณ์เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ (Temperature Sensor) ดังนั้น กรณีจาระบีเกิดมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะมีการส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ควบคุมเพื่อจะหยุดการเดินรถและตรวจสอบล้อที่เกิดความร้อนเกินเกณฑ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มนอตขนาดใหญ่ ติดยึดกับแกนตรงกลางและเพิ่มแหวนพร้อมกับนอตยึดแหวนอีก 6 ตัวเพื่อป้องกันการหลุดอีกชั้นหนึ่ง”
@“สีเหลือง-สีชมพู” ติดตั้งชุดล้อใหม่อย่างละ 1 ขบวน วิ่งทดสอบเก็บข้อมูล 3 เดือน
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำชุดล้อประคองที่ออกแบบใหม่มาทดสอบสายสีเหลือง 1 ขบวน และสายสีชมพู 1 ขบวน โดยจะติดตั้งชุดล้อประคองใหม่เสร็จในเดือน ต.ค. 2567 และจะมีการวิ่งทดสอบและเก็บข้อมูลประมาณ 3 เดือน หรือไปจนถึงช่วงกลางเดือน ม.ค. 2568 จากนั้นจะถอดล้อออกมาตรวจสอบด้านในหากไม่พบปัญหาใดก็จะเริ่มเปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่กับโมโนเรลทุกตู้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2568 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6-9 เดือนจึงจะเปลี่ยนครบทั้งหมด
สำหรับรถไฟฟ้าโมโนเรล 1 ตู้จะมีชุดล้อประคองทั้งหมด 12 ล้อ โดย 1 ขบวน มี 4 ตู้ เท่ากับมีล้อประคอง 48 ล้อ ซึ่งสายสีชมพู มีจำนวน 42 ขบวน และสายสีเหลืองจำนวน 30 ขบวน รวมมีชุดล้อประคองทั้งหมด 3,456 ล้อ ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนเสร็จหมดภายในปี 2568
“รฟม.มั่นใจว่าชุดล้อประคองที่มีการออกแบบใหม่จะไม่เกิดปัญหาการหลุดร่วงอีกเพราะมีการเพิ่มนอตตัวใหญ่ยึดที่แกนและมีนอตล็อกอีก 6 ตัว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะต้องรอผลการทดสอบการวิ่งกับขบวนจริงและเก็บข้อมูลให้เรียบร้อยก่อน”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่รถไฟฟ้าโมโนเรล สีเหลือง-สีชมพู ยังใช้ล้อประคองแบบเดิมนั้น รฟม.มีการกำกับดูแล การให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง โดย รฟม.ได้กำหนดมาตรการให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการ ซึ่งได้แจ้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยในระยะสั้น ผู้รับสัมปทานมีการปรับแผนการดูแลบำรุงรักษา ตรวจสภาพอุปกรณ์ล้อทุกล้อ ทุกขบวนก่อนนำรถออกให้บริการ จากเดิมทุก 15 วัน เป็นทุก 1-2 วัน และมีการติดเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิแบบชั่วคราวเพื่อดูเรื่องอุณหภูมิ และในอนาคตอาจจะมีการติดตั้งกล้อง image processing บริเวณประแจสับรางช่วงออกจากเดปโป้ เพื่อมอนิเตอร์ดูระยะการเคลื่อนของตัวล้อว่ามีความผิดปกติหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบโครงสร้าง วัสดุอุปกรณ์งานโยธาต่างๆ ด้วย
@เหตุล้อหลุดไม่กระทบจำนวนผู้โดยสาร
สถิติปริมาณผู้โดยสารปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม ช่วงวันที่ 1-21 ต.ค. 2567 ของสายสีเหลือง เฉลี่ย 46,600 คน/วัน โดยวันธรรมดามีผู้โดยสารประมาณ 46,000 คน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยที่ 35,000 คน ส่วนสายสีชมพูเฉลี่ย 56,785 คน/วัน โดยวันธรรมดามีผู้โดยสารประมาณ 65,000 วันเสาร์-อาทิตย์ มีประมาณ 47,000-49,000 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อเปิดเทอมแล้วจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. กล่าวว่า กรณีเหตุล้อประคองหล่นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูเพิ่งเปิดให้บริการ จึงยังอยู่ในช่วงแรกที่ผู้โดยสารกำลังเติบโต โดยจากการศึกษาคาดการณ์ผู้โดยสารไว้สูงกว่านี้ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงพฤติกรรมการเดินทางในปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นและมีปริมาณที่ชัดเจนขึ้น ในอีก 2 ปีข้างหน้าจึงจะนำมาวัดค่าปริมาณผู้โดยสารได้
ขณะที่การคาดการณ์การเติบโตของจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น มีตัวชี้วัดกลาง หรือ MRT Standardization คาดการเติบโตที่ประมาณ 2.5% ต่อปี ทั้งนี้ หากมองในแต่ละโครงการ ซึ่งสายสีเหลืองและสีชมพูเป็นเส้นทางฟีดเดอร์ ไม่ใช้สายหลัก ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารจะดีดตัวช้ากว่ารถไฟฟ้าสายหลัก
อย่างไรก็ตาม นายสาโรจน์ระบุว่า อุบัติเหตุที่เกิดกับสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งเป็นระบบโมโนเรลนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ รฟม.ให้ความสำคัญ และต้องหาแนวทางป้องกันแก้ไข แต่ไม่ใช่ประเด็นว่าจะไม่มีการใช้ระบบโมโนเรลอีกแล้วเพราะการพิจารณาเลือกระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมในแต่ละเส้นทางนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น สายสีเหลือง และสีชมพู เป็นฟีดเดอร์ หากใช้ระบบ 'เฮฟวีเรล' หรือรถไฟฟ้ารางหนักที่มีขนาดใหญ่ เหมือนสายสีน้ำเงินหรือสายสีม่วง จะไม่เหมาะกับเส้นทางและมีการลงทุนสูงที่จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนระบบโมโนเรลมีขนาดเล็กลงและมีค่าลงทุนถูกกว่า ส่วนประเด็นความปลอดภัยสามารถเพิ่มเติมในเงื่อนไขสัมปทานได้
@อัลสตรอมเปิดโรงงาน CRRC มีจีนเป็นลูกค้าหลัก
สำหรับโรงงาน CRRC Puzhen Alstom Transportation System Co., Ltd. (บริษัท PATS) เป็นการร่วมทุนของบริษัท CRRC Nanjing Puzhen Vehicle Co., Ltd. และ ALSTOM ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2014 ด้วยทุนจดทะเบียน 250 ล้านหยวน ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองอู๋หู (Wuhu Economic and Technological Development Zone) มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 167,000 ตารางเมตร โดยมีพื้นที่ส่วนของโรงงานกว่า16,000 ตารางเมตร
บริษัท PATS เริ่มสายการผลิตครั้งแรกในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2017 มีพนักงานราว 1,300 คน โดยมีขอบเขตธุรกิจด้านระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้าที่อาศัยการเคลื่อนที่ด้วยล้อยาง ซึ่งบริษัท PATS ดำเนินการตั้งแต่การออกแบบ การผลิตขบวนรถไฟฟ้า การบูรณาการระบบและส่งมอบขบวนรถไฟฟ้า
ขบวนรถไฟฟ้าที่บริษัท PATS ผลิตมีทั้งระบบขนส่งแบบล้อยางในระดับความจุปานกลาง-ต่ำ เช่น - ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมราง (Straddle monorail)
- ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM)
- ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติความจุต่ำ (Rubber-tyre Rapid Transit : RRT)
นอกจากนี้ บริษัท PATS ยังให้บริการอย่างอื่นสำหรับลูกค้า เช่น การวางแผนและการออกแบบ การก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา การจัดหาระบบไฟฟ้า-เครื่องกล (M&E) การจัดหาเงินทุน การผลิต การติดตั้ง การให้บริการเดินรถและการบำรุงรักษา
มีกำลังการผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรล 300 ตู้/ปี โดยนับจากก่อตั้งโรงงานแห่งนี้ผลิตโมโนเรลสะสมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 900 ตู้ ส่วนรถระบบ APM มีกำลังการผลิตประมาณ 100 ตู้/ปี ซึ่งลูกค้าอยู่ในประเทศจีนมากที่สุด สัดส่วนประมาณ 90%
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท PATS เป็นเวลา 10 ปี ได้ทำสัญญาและส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าให้กับโครงการต่างๆ ดังนี้
• ขบวนรถระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล (Innovia monorail 300 straddle type) กว่า 10 โครงการ ได้แก่
Wuhu Rail Transit Line 1 และ Line2, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ประเทศไทย โครงการระบบขนส่งมวลชน เซาเปาโล ประเทศบราซิลโครงการระบบขนส่งมวลชน ไคโร ประเทศอิยิปต์ เป็นต้น
• ขบวนรถระบบ APM (Innovia APM 300) ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนสาย Shanghai Pujiang โครงการ Hong Kong Airport Rapid Transit โครงการ Beijing Capital International Airport Rapid Transit โครงการ Singapore Bukit PanJang line และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง(BTS Golden line) เป็นต้น
และมีแผนส่งมอบรถในโครงการระบบขนส่งมวลชน มาเลเซีย Kuala Lumpur Airport APM ในปี ค.ศ. 2025, โครงการระบบขนส่งมวลชน Hong Kong Airport APM project บริการในปี ค.ศ. 2026, โครงการระบบขนส่งมวลชนMonorail Monterey Line Mexico ในปี ค.ศ. 2028 เป็นต้น
หากดูกำลังการผลิต และลูกค้าที่อัลสตอมมีการส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าจากโรงงาน CRRC เมืองอู๋หู ก็ต้องยอมรับในเรื่องมาตรฐานการผลิต ส่วนรถไฟฟ้าโมโนเรล เป็นรถไฟฟ้าที่ไม่มีคนขับ โดยรุ่น Innovia monorail 300 นี้นอกจากมีการใช้ในโครงการสายสีเหลืองและสายสีชมพูของไทยแล้ว ยังมีใช้ในอีกหลายประเทศ ขณะที่มีคำถามว่า แล้ว!!! ที่อื่นเกิดเหตุล้อหลุดเหมือนไทยหรือไม่ จากการสืบค้นพบว่า โมโนเรลเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล เคยเกิดเหตุหลายครั้ง ตั้งแต่รถออกจากสถานีโดยประตูไม่ปิด, มีชิ้นส่วนร่วงจากตัวรถ, ยางล้อระเบิด และที่หนักสุดคือ ระบบอาณัติสัญญาณมีปัญหาจนทำให้รถ 2 ขบวนชนกัน ซึ่งทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้ง รฟม.และผู้รับสัมปทาน ต้องนำมาเป็นบทเรียน… เพราะอาจจะเกิดขึ้นกับโมโนเรลของไทยได้ทุกเมื่อ!!!