xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” วิเคราะห์ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ “แฮร์ริส” ชนะไทยรุ่ง “ทรัมป์” เข้าวินไทยเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
  • • วันเลือกตั้ง: 5 พ.ย. 2567
  • • ผู้ท้าชิง:
  • • นางคามาลา แฮร์ริส (พรรคเดโมแครต) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
  • • นายโดนัลด์ ทรัมป์ (พรรครีพับลิกัน) อดีตประธานาธิบดี


เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 2567 ซึ่งเป็นการแข่งขันของ 2 ผู้ท้าชิง คือ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี จากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี จากพรรครีพับลิกัน ที่ขณะนี้ทั้งคู่ต่างเร่งหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายกันอย่างเข้มข้น และคะแนนยังสูสี ไม่รู้ว่าใครจะมีโอกาสที่จะเข้าวินมากกว่ากัน แต่ไม่ว่าใครจะเข้าวินเป็นประธานาธิบดี แน่นอนว่านโยบายของทั้งคู่ที่จะออกมาหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองของกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบายการหาเสียงของทั้งคู่ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการค้า การลงทุน และนโยบายด้านการเงิน
สหรัฐฯ ตลาดสำคัญของไทย
ปัจจุบันตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย และเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 รองจากจีน มีมูลค่าการค้าในปี 2566 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 67,659.89 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 48,352.79 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า มูลค่า 19,307.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการค้าช่วง 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 35,405.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.98% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 25,768.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.18% และนำเข้า มูลค่า 9,637.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.29%
โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด, อัญมณีและเครื่องประดับ, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
ส่วนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มาไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, ก๊าซธรรมชาติ, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ, ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์, เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์, พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

อัดกิจกรรมเจาะตลาดเต็มสูบ
จากความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้อัดกิจกรรมขยายตลาดสหรัฐฯ แบบเต็มสูบ มีตั้งแต่การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและธุรกิจในต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนการค้าระดับสูงไปเยือน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการค้า การลงทุนในสหรัฐฯ การส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าข้าวไทย สินค้านวัตกรรมอาหาร สินค้าฮาลาล สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ การร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต และคู่ค้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การส่งเสริมอาหารไทย ร้านอาหารไทย การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ การนำผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทย และการนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการไทยผ่านโซเชียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์

เจาะลึกนโยบาย “แฮร์ริส-ทรัมป์”
ด้วยความที่สหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญของไทย และกระทรวงพาณิชย์ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย การเปลี่ยนแปลงตัวผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะตัวประธานาธิบดี ย่อมมีความสำคัญ และส่งผลกระทบทั้งทางบวก และทางลบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สนค.จึงได้ทำการติดตามนโยบายที่ 2 คู่แข่งสำคัญได้นำมาหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา โดยเจาะลึกว่าแต่ละคนมีนโยบายแบบไหน อย่างไร จะมีผลกระทบอะไรต่อไทย และไทยควรจะปรับตัวอย่างไร

นโยบาย “แฮร์ริส” บวกต่อไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการติดตามในเบื้องต้น พบว่า หากนางแฮร์ริสชนะการเลือกตั้งคาดว่าจะมีการสนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น โดยอาจมีการผลักดันให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยพิจารณาเข้าร่วมเพื่อขยายการค้ากับประเทศสมาชิก และอาจมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งไทยอาจได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0 รวมทั้งมีแนวโน้มใช้มาตรการที่นุ่มนวลกว่าทรัมป์ในเรื่องมาตรการทางภาษีกับจีน แต่ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยอาจต้องปรับตัวโดยการกระจายความเสี่ยงและหาพันธมิตรทางการค้าใหม่

“กรณีที่แฮร์ริสได้รับชัยชนะ อาจส่งผลดีต่อการลงทุนในประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล อาจเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้าร่วมลงทุนในสหรัฐฯ ส่วนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน อาจนำมาซึ่งโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมลงทุนในการผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงสำหรับประเทศไทย ในด้านนวัตกรรม นโยบายของแฮร์ริสอาจส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมและซอฟต์แวร์ของไทยเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก อีกทั้งการสนับสนุนการพัฒนา Smart City อาจนำมาซึ่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดโอกาสในการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย”

นอกจากนี้ นโยบายของแฮร์ริสที่มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงานและการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในทางที่เป็นประโยชน์ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการสังคมในสหรัฐฯ แม้จะอาจเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อในไทย ในขณะเดียวกัน มาตรการควบคุมราคายา ค่ารักษาพยาบาล และพลังงานในสหรัฐฯ อาจช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมเงินเฟ้อในไทย และนโยบายที่มุ่งเน้นการควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อในไทย

นโยบาย “ทรัมป์” ลบต่อไทย
นายพูนพงษ์กล่าวว่า กรณีทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอาจมีการเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% หรือมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นโอกาสให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้น และความต้องการสินค้าทดแทนจากไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นด้วย แต่สหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ
“ถ้าทรัมป์ได้รับชัยชนะ นโยบาย America First อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ในประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในไทยพิจารณาย้ายกลับประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย และอาจเกิดการชะลอตัวของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ สู่ไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในระยะยาว และการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในไทยอาจลดลง รวมถึงอาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยี 5G ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย”
ในทางตรงกันข้าม นโยบายของทรัมป์ที่เน้นการลดอัตราดอกเบี้ยและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในหลายมิติ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก นำไปสู่แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศคู่ค้าอย่างไทย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย และอาจนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในสหรัฐฯ อาจเพิ่มความต้องการสินค้าในตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยสูงขึ้น ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจเพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ ส่งผลต่อราคาสินค้าในประเทศไทย ท้ายที่สุด นโยบายการคลังแบบขยายตัว เช่น การลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ อาจก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะยาว

แนะธุรกิจปรับตัว-รัฐวางแผนรับมือ
นายพูนพงษ์กล่าวว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายที่อาจตามมา ประเทศไทยควรดำเนินการในหลายด้าน เริ่มจากภาคธุรกิจที่ควรกระจายความเสี่ยงโดยขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ เพราะหากตลาดสหรัฐฯ มีผลกระทบ ก็จะไม่ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย รวมทั้งจะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และควรติดตามนโยบายการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวได้ทันท่วงที
ส่วนในระดับประเทศ ไทยควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมถึงพัฒนานโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง

ในด้านเศรษฐกิจและการเงิน ภาครัฐควรเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้านำเข้า และพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า และควรส่งเสริมการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ จะต้องติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเตรียมมาตรการรองรับที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เพื่อใช้เป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายเศรษฐกิจที่จะตามมา รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายและฉกฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น