- • ชะลอโครงการ: บอร์ด กทพ. รับทราบการชะลอโครงการทางด่วนทดแทน N1 เกษตร-งามวงศ์วาน
- • เหตุผล: ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ
- • สาเหตุ FIRR ติดลบ: การสร้างอุโมงค์เพื่อลดผลกระทบ ส่งผลให้ต้นทุนสูงมาก
- • ทางเลือก: ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
บอร์ดกทพ.รับทราบชะลอทางด่วนทดแทน N1 "เกษตร-งามวงศ์วาน" หลังพิจารณาผลศึกษาพบผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ เหตุสร้างเป็นอุโมงค์เพื่อลดผลกระทบ แต่ลงทุนสูงมาก
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา บอร์ดกทพ.มีมติรับทราบ การชะลอโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 (ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน -ถนนประเสริฐมนูกิจ) ออกไปก่อนตามที่ กทพ.ได้รายงานผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการฯ ซึ่งแม้ โครงการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 19.20 % แต่พบว่า ตัวเลขผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ เนื่องจากต้องก่อสร้างเป็นอุโมงค์ เพื่ดผลกระทบตามที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้มีค่าก่อสร้างสูงมาก
ทั้งนี้ จากการพิจารณาเห็นว่า หากตัวเลขผลตอบแทนทางการเงินติดลบก็ควรชะลอโครงการไปก่อน ยกเว้นสามารถปรับรูปแบบการก่อสร้างจากอุโมงค์เป็นทางด่วนยกระดับได้ อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้งเนื่องจากค่าก่อสร้างและค่าลงทุนโครงการจะถูกลงและมีผลตอบแทนทางการเงินมากขึ้น
ส่วนในช่วงปลาปี 2567 กทพ.คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขออนุมัติ 2 โครงการได้ตามแผน คือ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ในระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) หรือ ตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท และ โครงการทางด่วน สายกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินโครงการประมาณ 16,190 ล้านบาท
@ผลศึกษาชี้ชัด สร้างใต้ดิน ลงทุนสูง
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน -ถนนประเสริฐมนูกิจ หรือทางด่วนทดแทน N1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน และสิ้นสุดที่ถนนประเสริฐมนูกิจ โดยเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 บริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ระยะทางรวม 10.55 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 49,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 44,532 ล้านบาทค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,619 ล้านบาทค่าควบคุมงานก่อสร้าง 1,069 ล้านบาท
ซึ่งในการศึกษา พบว่า ช่วงใต้ดินที่ลึกที่สุด คือ 46 เมตร ระยะทางยาว 6.31 กม. โดยก่อสร้างเป็นอุโมงค์ 2 ชั้น รูปแบบ Tunnel Boring Machine :TMB ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16.3 เมตร
ขณะที่การรับฟังความคิดเห็น ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 ประชาชน ส่วนใหญ่คัดค้านขอให้ยกเลิกโครงการเนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงไม่คุ้มค่า และ ไม่แก้ปัญหาจราจรได้จริง นอกจากนี้ยังจะทำให้ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ มีความไม่ปลอดภัยสูง โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุภายในอุโมงค์
อย่างไรก็ตาม กทพ.จะต้องรายงานความคืบหน้าต่อกระทรวงคมนาคม กรณีการชะลอโครงการ และยังต้องผ่านการพิจารณาจากอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจ สำหรับ โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจร และช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น รวมถึงช่วยลดระยะเวลาการเดินทางเชื่อมโยงจากฝั่งตะวันออก และตะวันตกได้ประมาณ 30 นาที