xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนรับมือแผน “แผนพลังงานชาติ” ปตท.นำร่องโครงการ CCS - ลุ้นรัฐหนุน “กรีนไฮโดรเจน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • อุทกภัยรุนแรงในภาคเหนือของไทย: เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
  • • ไทยอยู่ใน 10 อันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุด: สถานการณ์คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต
  • • ภัยพิบัติทั่วโลก: หลายประเทศเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรง ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


การเกิดอุทกภัยที่รุนแรงในหลายจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งภัยพิบัติต่างๆในอีกหลายประเทศทั่วโลก เปิดจากปัญหาClimate Change ซึ่งมีการระบุว่าประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดและนับวันจะทวีความรุนแรงแรงขึ้น หากทุกคนยังไม่ตระหนักถึงปัญหาโลกเดือด

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลกจากทั้งหมด198 ประเทศ ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานถึงร้อยละ 70 จากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งรวมกัน ในเมื่อไม่สามารถเลิกใช้พลังงานได้ ดังนั้นจำเป็นต้องใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นการที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถบริหารจัดการได้เอง ช่วยลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมในระบบ ซึ่งกระทรวงพลัวงานอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎระเบียบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในการผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 รวมทั้งให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสะอาดกับผู้ผลิตไฟฟ้าได้เอง เบื้องต้นโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA)ราว 2พันเมกะวัตต์รองรับทุนข้ามชาติกลุ่มDATA Center คาดว่าเงื่อนไขกฎระเบียบDirect PPA จะมีความชัดเจนในต้นปี2568


แผนพลังงานชาติชงครม.ปลายปี67

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan:NEP) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 62 แห่งที่เราได้จัดส่งไป หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาทบทวนก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตามลำดับภายในปลายปี 2567

โดยแผนพลังงานชาติ จะประกอบด้วย 5แผนหลักคือ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยแผนPDPได้รับความสนใจและมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นแต่ก็กังวลด้านราคาค่าไฟฟ้า การลงทุนSmart Grids รวมถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับSMR ฯลฯ เนื่องจากSector พลังงานมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero greenhouse gas emissions) ในปี พ.ศ. 2608

จำเป็นต้องเร่งส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แม้ว่าพลังงานทดแทนจะมีราคาถูกลงแต่ก็มีข้อจำกัดด้านเสถียรภาพ ทำให้ไม่สามารถผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ทั้ง100% เพราะต้องมีการก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดเพื่อรักษาระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศอยู่จนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลง รวมทั้งการผลิตพลังงานไฮโดรเจนและแอมโมเนียมีต้นทุนที่ต่ำ

ทั้งนี้ ร่างแผน PDP มีหลายประเด็นที่ยังต้องพิจารณาทั้งปริมาณสำรองไฟฟ้า ค่าพยากรณ์ไฟฟ้า รวมถึงกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) จึงมีแผนขยับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ให้เข้าสู่ระบบเร็วขึ้นอยู่ในช่วงก่อนปีพ.ศ. 2573 ประมาณ 2,000เมกะวัตต์ จากเดิมที่จะเข้าสู่ระบบปริมาณมากในช่วงปีพ.ศ. 2575 และปีพ.ศ. 2578 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงาน แต่ต้องพิจารณาในเรื่องความพร้อมของสายส่ง และความมั่นคง ซึ่งต้องมีการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน(ESS)ด้วย

สำหรับภาคอุตสาหกรรมก็ต้องเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เร่งลดการปล่อยคาร์บอน เพราะไม่สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาเพื่อมารับรองการลดการปล่อยคาร์บอนได้ในตลาดอียู จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องลดการปล่อยคาร์บอนเองเท่านั้น มิฉะนั้นจะเจอการเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งทำให้การแข่งขันลำบากขึ้น ดังนั้นภาครัฐมีแนวทางส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปใช้เอง รวมทั้งการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ทั้งนี้ แผนพลังงานชาติ จึงมีกรอบที่ชัดเจนเพื่อตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พร้อมหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 50 เนื่องจากข้อจำกัดด้านเสถียรภาพทำให้ต้องมีการใช้แบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงาน, ส่งเสริมภาคขนส่งในการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่าร้อยละ 30 – 40 เป็นต้น และหากยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยังมีพระเอกที่มีบทบาทในอนาคตคือ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งขณะนี้กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปในทำโครงการCCS มีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่EECมากักเก็บไว้ในหลุมปิโตรเลียมที่ว่างในแหล่งอาทิตย์ เบื้องต้นคาดว่าจะกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตัน รวมทั้งศึกษาโครงการCCSในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยองด้วย ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน ทำให้การเดินหน้าโครงการCCS เป็นไปค่อนข้างล่าช้าเพราะติดกฎระเบียบ ข้อกฎหมายจากหลายหน่วยงาน

โดยปตท.ได้มอบหมายให้บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)หรือปตท.สผ.เป็นแกนนำเพื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 และยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและของประเทศ


ปตท.โฟกัสโครงการCCS-ไฮโดรเจน

ดร.ธนา ศรชำนิ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจไฮโดรเจน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้ปตท.โฟกัสโครงการCCS ในอ่าวไทย โดยจะมีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานในกลุ่มปตท.ที่EEC และโรงงานอื่นๆที่นอกกลุ่มปตท.โดยจะมีการวางท่อฯจากศรีราชา-นิคมฯมาบตาพุด และการสร้างสถานีคาร์บอนไดออกไซด์ และต่อท่อใต้ทะเลไปยังแหล่งกักเก็บคาร์บอนนอกชายฝั่งโดยอัดกลับเข้าไปในชั้นใต้ดินอย่างถาวรในอ่าวไทย แต่โครงการดังกล่าวยังคงติดปัญหาเพราะมีหลายหน่วยงานรัฐมาเกี่ยวข้อง จึงต้องหารือภาครัฐเพื่อจัดทำเป็นรูปแบบOne Stop Service โดยเบื้องต้นคาดว่าจะศึกษาความเป็นไปได้โครงการและตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID)ในปีพ.ศ. 2573 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปีพ.ศ. 2577

โครงการ CCS ดังกล่าวจะอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนในอ่าวไทยได้ถึง 10ล้านตันต่อปี แต่หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายNet Zeroในปีพ.ศ.2608 จำเป็นต้องมีการกักเก็บคาร์บอนมากถึง 60ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.เตรียมนำร่องโครงการCCS เพื่อกักเก็บคาร์บอนฯจากโรงงานในกลุ่มปตท.มาเก็บที่หลุมปิโตรเลียมในแหล่งอาทิตย์ราว 1 ล้านตัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการใน1-2ปีข้างหน้า

ส่วนความคืบหน้าโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ที่ศึกษาร่วมกับ กฟผ.และบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานจากซาอุดีอาระเบียว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เบื้องต้นพบว่าต้นทุนการผลิตกรีนไฮโดรเจนมีราคาสูงเฉลี่ย 7-10เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคานำเข้า ขณะที่ราคาGrey Hydrogenราคาไม่เกิน 2เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบBusiness Model และสถานที่ตั้งโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้ใกล้กับผู้ใช้ เนื่องจากยอมรับว่าประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดไม่มากเหมือนซาอุฯ ทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง และโครงการนี้ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยเพื่อให้โครงการเกิดได้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในอีก 1-2ปีนี้

โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 252,000 ล้านบาท

ปัจจุบันไทยมีการผลิตไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) คือไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่แล้วโดยใช้ในโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งถ้าโครงการCCS เกิดขึ้นมีการดักจับคาร์บอนในกระบวนการผลิตก็จะเปลี่ยนจากGrey Hydrogen เป็นBlue Hydrogen

อย่างไรก็ดี ช่วงปลายแผนPDP2024 ระบุว่าจะมีการนำไฮโดรเจนมาผสมราว5%ในโรงไฟฟ้านั้น เชื่อว่าจะเป็นการนำเข้าไฮโดรเจนจากต่างประเทศมาก่อน เพราะยังไม่มีโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในราคาถูกได้เว้นแต่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น


ส.อ.ท.จี้SMEเตรียมรับมือCBAM

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
กล่าวว่า อุตสาหกรรมกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าสหรัฐกับจีน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศล้วนแต่มีผลกระทบต่อราคาพลังงาน มีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEไทยจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายอย่างเร่งด่วน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมก้าวสู่การแข่งขันอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องเตรียมรับมือต่อผลกระทบจากมาตรการภายใต้กรอบกติกาจากต่างประเทศ ที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทย และอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนผู้ประกอบการสู่ Smart SMEผ่าน 4GO ประกอบไปด้วย

1. Go Digital & AI ภายใต้โครงการ “Digital One” เพื่อช่วยยกระดับ SME ทั่วประเทศ ทั้งลดต้นทุนและรายจ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยยกระดับให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี (Smart SME) ได้เร็วขึ้น

2. Go innovation ทาง ส.อ.ท. ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมที่เรียกว่า “Innovation One” หรือโครงการกองทุนอินโนเวชั่นวันโดยกระทรวง อว. ได้ให้งบสนับสนุน 1,000 ล้านบาท และ ส.อ.ท. สมทบอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท ในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุน SME และสตาร์ทอัพ (Startup) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

3. Go Global จะผลักดันผู้ประกอบการ SME ให้สามารถผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศได้ในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ 4. Go Green จะผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME ผลิตสินค้าและมีกระบวนการทั้งหมดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ คือ สินค้าที่ทั้งโลกต้องการและขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อให้เสริมสร้างขีดความสามารถทางแข่งขันในระดับสากลได้


นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวถึงโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ว่า เนื่องจากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของไทยกว่าร้อยละ 80 อยู่ที่จังหวัดสระบุรี เรามีแนวคิดที่จะพัฒนาจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศ หากทำได้เชื่อว่าจังหวัดอื่นๆในไทยก็ทำได้เช่นกัน ดังนั้นจึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเริ่มจากพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนการใช้ถ่านหินเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และสนับสนุนให้ใช้ปูนคาร์บอนต่ำในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,169,673 ตันคาร์บอน และตั้งเป้าในปี2568 ประเทศไทยจะไม่มีการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์อีกนับเป็นประเทศแรกในเอเชีย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งมีความชำนาญและเครื่องมือในการจัดทำแผน Energy Transition ของสหรัฐอเมริกา มากำหนดแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยจัดทำ Energy Roadmap ของ จ.สระบุรี รวมถึงประเมินแนวทางการใช้พื้นที่ของจังหวัดฯ ทำเป็น Solar PV พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และการพัฒนา Grid Modernization ในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ที่ทดลองนำร่องก่อน

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือการปรับตัวของSMEเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและNet Zeroลงได้อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องเข้ามีบทบาทในการช่วยเหลือเพื่อให้SMEสามารถปรับตัวรับมือการเปลี่ยนผ่านพลังงานและกฎระเบียบความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น