- • ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน ปี 2567 เติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน
- • มีจำนวน 2,195 โครงการ เงินลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท
- • เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- • กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน ปี 2567 เติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เงินลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% นำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ทั้งเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน ยอดส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์อันดับหนึ่ง ตามด้วยจีนและฮ่องกง เป็นผลการย้ายฐานผลิตโลก หนุนตัวเลขลงทุนปี 2567 พุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กันยายน) ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอได้ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ จำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนในห้วงเวลาสำคัญที่มีกระแสเคลื่อนย้ายฐานการผลิตโลก เช่น การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะรองรับเทคโนโลยีใหม่ กลไกจัดหาพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เป็นต้น
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท
โดยกิจการที่มีการลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น กิจการ Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท โดยมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และอินเดีย
กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท
กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 61,302 ล้านบาทและกิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,973 ล้านบาท
กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง จำนวน 117 โครงการ เงินลงทุนรวม 30,515 ล้านบาทและกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 351 โครงการ เงินลงทุนรวม 85,369 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เงินลงทุนรวม 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 180,838 ล้านบาท จีน 114,067 ล้านบาท ฮ่องกง 68,203 ล้านบาท ไต้หวัน 44,586 ล้านบาท และญี่ปุ่น 35,469 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่บริษัทแม่สัญชาติจีนและสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ Data Center นำบริษัทลูกที่จดจัดตั้งในสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 408,737 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 220,708 ล้านบาท ภาคเหนือ 35,452 ล้านบาท ภาคใต้ 25,039 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23,777 ล้านบาท และภาคตะวันตก 8,812 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 287 โครงการ เงินลงทุนรวม 27,318 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต
สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 2,072 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุน 672,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 101 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการออกบัตรส่งเสริมเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด โดยปกติบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มทยอยลงทุนภายใน 1-3 ปี หลังจากออกบัตรส่งเสริม
“ทิศทางการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แต่สิ่งที่บีโอไอให้ความสำคัญมากกว่าตัวเลขเม็ดเงินลงทุน คือคุณภาพของโครงการ และประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะเวลาสำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ช่วยต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิมให้มั่นคง สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มกว่า 1.7 แสนคน จะใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 8 แสนล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี” นายนฤตม์กล่าว