- • ฤดูกาลผลไม้ปี 2567 ปิดฉากอย่างงดงาม
- • เป็นปีทองสำหรับเกษตรกร เนื่องจากราคาผลไม้พุ่งสูง
- • ผลไม้ที่ราคาสูง ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ สับปะรด ลำไย
- • นายพิชัย สั่งการกรมการค้าภายในเตรียมมาตรการเชิงรุกดูแลผลไม้ปี 2568 ล่วงหน้า
ปิดฉากฤดูกาลผลไม้ปี 2567 ได้อย่างงดงาม เป็นปีทองอีกปีหลังราคาพุ่งทุกรายการ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ สับปะรด ลำไย ทำเกษตรกรยิ้มได้ “พิชัย” สั่งการกรมการค้าภายในเตรียมมาตรการเชิงรุกดูแลผลไม้ปี 68 ล่วงหน้า
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้รายงานผลการติดตามสถานการณ์ผลผลิตและราคาผลไม้ปี 2567 พบว่า ผลไม้ใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาลแล้ว และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ สับปะรด และลำไย ซึ่งเป็นความสำเร็จของมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 จำนวน 6 มาตรการ 25 แผนงาน ที่ได้เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ก่อนที่ผลผลิตผลไม้จะออกสู่ตลาด และเมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแล ทั้งการขยายตลาดในประเทศและการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ และการนำผลผลิตไปแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ปีนี้ปิดฉากฤดูกาลผลผลิตผลไม้ได้อย่างงดงาม และถือเป็นปีทองของพี่น้องเกษตรกรอีกปีหนึ่ง ที่ขายผลผลิตได้ราคาดีและมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเตรียมมาตรการแล้ว โดยให้จัดทำมาตรการให้พร้อมก่อนที่ผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด ซึ่งจะมีมาตรการทั้งส่งเสริมการผลิตและแปรรูป มาตรการส่งเสริมตลาดในประเทศ มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรการทางกฎหมาย โดยหากได้ข้อสรุปแล้วจะนำมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำมาใช้เป็นมาตรการดูแลผลไม้เชิงรุกในปี 2568 ต่อไป
ทั้งนี้ ผลไม้ภาคตะวันออกสิ้นสุดฤดูกาลแล้ว ราคาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ โดยทุเรียนเกรด AB ราคาเฉลี่ย 181 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 21% เกรด C ราคา 131 บาท/กก. เพิ่ม 19% เกรด D ราคา 111 บาท/กก. เพิ่ม 11% มังคุด เกรดส่งออก ราคา 89 บาท/กก. เพิ่ม 46% เกรดรอง ราคา 61 บาท/กก. เพิ่ม 22% เกรดคละ 64 บาท/กก. เพิ่ม 68% ตกเกรด ราคา 25 บาท/กก. เพิ่ม 67% เงาะโรงเรียน ส่งออก ราคา 41 บาท/กก. เพิ่ม 17% เงาะโรงเรียน ในประเทศ ราคา 36 บาท/กก. เพิ่ม 29% เงาะสีทอง ส่งออก ราคา 31 บาท/กก. เพิ่ม 35% เงาะสีทอง ในประเทศ ราคา 26 บาท/กก. เพิ่ม 44% ลองกอง เบอร์ 1 ราคา 76 บาท/กก. เพิ่ม 1% เบอร์ 2 ราคา 60 บาท/กก. เพิ่ม 15% เบอร์ 3 ราคา 52 บาท/กก. เพิ่ม 4%
ผลไม้ภาคใต้ ใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาลแล้ว โดยทุเรียนออกแล้ว 98.6% เกรด AB ราคาเฉลี่ย 180 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 50% เกรด C ราคา 120 บาท/กก. เพิ่ม 14% เกรด D ราคา 100 บาท/กก. เพิ่ม 4% มังคุด ออกแล้ว 99.2% กลุ่มประมูล เกรดส่งออก ราคา 90.95 บาท/กก. เพิ่ม 146% เกรดรอง ราคา 69.50 บาท/กก. เพิ่ม 132% เกรดคละ 47.50 บาท/กก. เพิ่ม 90% ตกเกรด ราคา 35.50 บาท/กก. เพิ่ม 196% เงาะโรงเรียน ในประเทศ ราคา 38 บาท/กก. เพิ่ม 31% เงาะสีทอง ในประเทศ ราคา 27 บาท/กก. เพิ่ม 13% ลองกอง ออกแล้ว 93.6% เบอร์ 1 ราคา 36.50 บาท/กก. เพิ่ม 22% เบอร์ 2 ราคา 22.50 บาท/กก. เพิ่ม 13% เบอร์ 3 ราคา 8.50 บาท/กก. ลด 6%
ผลไม้ภาคเหนือ ใกล้จะสิ้นฤดูกาลเช่นเดียวกัน โดยมะม่วงจบฤดูกาลแล้ว มะม่วงน้ำดอกไม้ เกรดส่งออก ราคา 60 บาท/กก. เพิ่ม 20% เกรด A ราคา 37.50 บาท/กก. เพิ่ม 36% เกรดคละ ราคา 22.50 บาท/กก. เพิ่ม 13% มะม่วงฟ้าลั่น เบอร์ 1 ราคา 20 บาท/กก. เพิ่ม 122% คละ 12.50 บาท/กก. เพิ่ม 108% มะม่วงโชคอนันต์ เกรดตลาด 12.50 บาท/กก. เพิ่ม 56% เกรดดอง ยำ ราคา 3 บาท/กก. เพิ่ม 20% มะม่วงเขียวเสวย คละ ราคา 23.50 บาท/กก. เพิ่ม 2% มะม่วงมหาชนก คละ ราคา 21 บาท/กก. เพิ่ม 24% มะม่วงเขียวมรกต เบอร์ 1-2 ราคา 19 บาท/กก. เพิ่ม 27% คละ 12.75 บาท/กก. เพิ่ม 28% ลิ้นจี่ ฮงฮวย A ราคา 33.25 บาท/กก. เพิ่ม 19% จักรพรรดิ B ราคา 61.25 บาท/กก. เพิ่ม 36% ส้มเขียวหวาน คละ 20 บาท/กก. เพิ่ม 14% สับปะรดภูแล ออกแล้ว 91% เกรดคละ ราคา 12.50 บาท/กก. เพิ่ม 39% ส้มโอทองดี ออกแล้ว 97% เกรดสวยติดขั้ว-ใบ ราคา 14.50 บาท เพิ่ม 5% เกรดคละ ราคา 11.50 บาท เพิ่ม 4% ลำไย ช่อส่งออก AA ราคา 42 บาท/กก. เพิ่ม 29% ช่อส่งออก A ราคา 38 บาท/กก. เพิ่ม 38% รูดร่วง AA ราคา 33 บาท/กก. เพิ่ม 40% รูดร่วง A ราคา 18 บาท/กก. เพิ่ม 16% รูดร่วง B ราคา 10 บาท/กก. เพิ่ม 33% ลองกอง ออกแล้ว 73% เบอร์ 1 ราคา 37.50 บาท/กก. เพิ่ม 36% เบอร์ 3 ราคา 23.50 บาท/กก. เพิ่ม 114%
ส่วนสถานการณ์การส่งออกผลไม้สดในช่วง 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) ส่งออกได้แล้วปริมาณ 1.4 ล้านตัน มูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยตลาดหลักยังคงเป็นจีน ที่มีกำลังซื้อสูงและยังมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดศักยภาพ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย ที่มีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน