xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ชี้เป้าส่งออกอาหารสัตว์ขายจีน เน้นเจาะภาคอีสานที่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหมา-แมว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ไทยเป็นอันดับ 4 ของโลกในการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงปี 66
  • • มีส่วนแบ่งตลาด 8.39%
  • • มูลค่าส่งออกปี 66 เกิน 7.2 หมื่นล้านบาท
  • • 8 เดือนแรกของปี 67 มูลค่าส่งออกสูงกว่า 6.34 หมื่นล้านบาท
  • • เพิ่มขึ้น 34.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


สนค.วิเคราะห์การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 66 พบเป็นอันดับ 4 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาด 8.39% รองจากเยอรมนี สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ขายได้กว่า 7.2 หมื่นล้านบาท และช่วง 8 เดือนปี 67 ส่งออกแล้ว 6.34 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 34.2% เผยตลาดจีนน่าสนใจ เป็นตลาดลำดับที่ 13 แต่มีโอกาสโตสูง หลังคนจีนเลี้ยงสุนัข แมวเพิ่ม ชี้เป้าขายไปที่มณฑลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหตุเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงใหญ่ และต้องคุมเข้มคุณภาพ มาตรฐาน การผลิตเน้นความยั่งยืน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าและแนวโน้มของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง (อาหารสุนัขหรือแมว พิกัด HS Code 230910) พบว่าไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก โดยในปี 2566 เป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลก มีส่วนแบ่ง 8.39% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลก รองจากเยอรมนี ที่มีส่วนแบ่ง 13.07% สหรัฐฯ 9.81% และฝรั่งเศส 9.77%

ส่วนภาพรวมการส่งออกในปี 2566 มีมูลค่า 2,092.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (72,250 ล้านบาท) ลดลง 15% โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ สัดส่วน 28.43% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ญี่ปุ่น สัดส่วน 15.78% มาเลเซีย 6.16% อิตาลี 5.91% และออสเตรเลีย 5.55% และในช่วง 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) ส่งออกมูลค่า 1,769.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (63,453 ล้านบาท) เพิ่ม 34.2% โดยตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 57.3% อิตาลี เพิ่ม 49.5% ออสเตรเลีย เพิ่ม 43% มาเลเซีย เพิ่ม 7.4% และญี่ปุ่น เพิ่ม 4.1%

สำหรับตลาดที่น่าสนใจ คือ จีน พบว่าในปี 2566 เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 13 ของไทย มีมูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,310 ล้านบาท) ลดลง 42.2% คิดเป็นสัดส่วน 1.82% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ส่วนช่วง 8 เดือนปี 2567 ส่งออกมูลค่า 27.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (974 ล้านบาท) เพิ่ม 9% และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 9.38% จากเดิม 7.09% โดยแหล่งนำเข้าของจีนอันดับหนึ่ง คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 66.89% นิวซีแลนด์ 13.51% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยยังมีโอกาสเติบโตในตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอาหารสัตว์เลี้ยง มีผลการศึกษาของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เรื่อง ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ที่ระบุว่า ในปี 2566 สุนัขและแมวในเขตเมืองทั่วประเทศจีนมีจำนวนมากกว่า 120 ล้านตัว เพิ่ม 4% โดยเป็นแมว 70 ล้านตัว เพิ่ม 7% สุนัข 52 ล้านตัว เพิ่ม 1% ส่งผลให้ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 การบริโภคอาหารแมว มูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.6% อาหารสุนัข มูลค่า 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4% โดยสัดส่วนจำนวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่ในเขตเมืองรองระดับสอง เช่น ฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง นครฉางชุน มณฑลจี๋หลิน และนครเสิ้นหยาง มณฑลเหลียวหนิง มากสุด 41% รองลงมาคือ เมืองหลักระดับหนึ่ง และเมืองรองระดับสาม สัดส่วน 29% และ 30% ตามลำดับ และมณฑลเหลียวหนิงยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ติด 1 ใน 10 อันดับของมณฑลที่มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากที่สุด โดยสุนัขและแมว 70% ของตลาดสัตว์เลี้ยงในจีนมาจากมณฑลเหลียวหนิง

ทางด้านปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าจากต่างประเทศสามารถเติบโตในจีน สินค้าจะต้องวางจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดตลาด เพื่อป้องกันผู้บริโภคหันไปซื้อแบรนด์อื่นและสินค้าทางออนไลน์ที่ถูกกว่า อาหารสัตว์เลี้ยงต้องมีความสดใหม่ ต้องควบคุมราคาไม่ให้แตกต่างกันมากในแต่ละช่องทางการจำหน่าย และบรรจุภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงต้องมีสีสันสวยงามและสะดุดตา รวมทั้งควรมีข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์

“จีนเป็นตลาดศักยภาพที่น่าสนใจสำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสามารถเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยควรศึกษารสนิยม พฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐาน และความแตกต่างของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยทำให้อาหารสัตว์เลี้ยงไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่ไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว” นายพูนพงษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น