xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”แนะผู้ผลิต PCB ปรับตัวทำธุรกิจยั่งยืน รับเทรนด์โลก เพิ่มโอกาสขายบริษัทชั้นนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ตลาดแผงวงจรพิมพ์ (PCB) เติบโตต่อเนื่อง:
  • • ขับเคลื่อนโดยความต้องการใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้า
  • • โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า
  • • ไทยเป็นเป้าหมายการย้ายฐานการผลิต:
  • • มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์
  • • ค่าแรงมีระดับที่น่าดึงดูด


สนค.ติดตามแนวโน้มสถานการณ์ตลาด “แผงวงจรพิมพ์ (PCB)” พบมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เผยไทยเป็นประเทศเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิต เหตุมีความพร้อมทั้งการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ค่าแรงมีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานพร้อม แต่มาพร้อมการคุมเข้มปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการทำธุรกิจยั่งยืนตามกรอบ ESG แนะต้องปรับตัว ป้องกันหลุดการเป็นซัปพลายเออร์ให้บริษัทชั้นนำ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้า มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของอุปกรณ์ไฟฟ้า มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลจาก Precedence Research ผู้ให้บริการชั้นนำด้านข้อมูลตลาดเชิงลึก ระบุว่า ในปี 2023 อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ทั่วโลกมีมูลค่า 868,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 5.8% ต่อปี จนมีมูลค่า 1,525,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2033 จากอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแผงวงจรพิมพ์ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ในยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย พบว่า เป็นประเทศเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิต PCB ระดับโลก เพราะปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ และไทยยังมีความพร้อมในหลายด้าน อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ต้นทุนการผลิตที่ต่ำและค่าแรงที่ไม่สูงมาก แรงงานในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ทั้งการคมนาคมและโทรคมนาคม ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำมากกว่า 20 บริษัท ได้ประกาศแผนการลงทุนการผลิตในเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิต PCB มาที่อาเซียนและไทย ไม่ได้นำพาแค่โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ในการเข้าเป็นซัปพลายเออร์ให้กับบริษัทผู้ผลิตระดับโลก แต่ยังมาพร้อมกับการบังคับใช้ข้อกำหนดและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นความท้าทายใหม่ของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย เนื่องจากกระแสสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝั่งผู้บริโภค เช่น การแยกขยะและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสีเขียวต่าง ๆ แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่ภาคการเงินและภาคธุรกิจ เห็นได้จากมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักของ ESG ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก

โดยในส่วนของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก เช่น Apple , Microsoft และ NVIDIA ได้ออกข้อบังคับสำหรับการตรวจสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดการใช้พลังงานในการผลิต ที่จะบังคับใช้กับทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องในทุกจุดของขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2025–2030 บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถทำตามหลักของ ESG และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะโดนตัดออกจากเครือข่ายซัปพลายเออร์

“ผู้ประกอบการแผงวงจรพิมพ์ไทย ควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด และมาตรการเหล่านี้ เพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักของ ESG ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของโลกในยุคนี้ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัท และสร้างโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายซัปพลายเออร์ของบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลและการให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการเป็นฐานการผลิตแผงวงจรพิมพ์ในภูมิภาคอาเซียน”นายพูนพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาดแผงวงจรพิมพ์โลกแบ่งตามภูมิภาค 3 อันดับแรก ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก มีสัดส่วน 47.14% รองลงมา อเมริกาเหนือ สัดส่วน 27.14% และยุโรป สัดส่วน 18.2% ส่วนด้านการผลิต ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นแหล่งผลิตหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของจำนวนแผงวงจรพิมพ์ทั้งหมดในโลก โดยมีผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์รายใหญ่ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยไต้หวัน ถือเป็นผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์อันดับหนึ่งของโลก มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและกำลังการผลิตมากที่สุด สำหรับไทย ในปี 2023 มีมูลค่าการส่งออกแผงวงจรพิมพ์ 9,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.3% โดยส่งออกไปที่ฮ่องกง มากที่สุด มูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในประเทศจาก ไต้หวัน มากที่สุด มูลค่า 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากข้อมูลของสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (TPCA) พบว่า ในปี 2023 ไทยมีการผลิตแผงวงจรพิมพ์ คิดเป็นสัดส่วน 3.8% ของกำลังการผลิตรวมของโลก คาดการณ์ว่า สัดส่วนจะเติบโตขึ้นเป็น 4.7% ในปี 2025 จากการลงทุนของผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์ระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น