- • อินเดียกลับมาส่งออกข้าว 5% ออกสู่ตลาดโลก: หลังจากห้ามส่งออกข้าวขาวมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566
- • การห้ามส่งออกข้าวขาว: เป็นมาตรการที่รัฐบาลอินเดียใช้เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ
- • การกลับมาส่งออก: อาจเป็นผลจากราคาข้าวในประเทศที่ลดลง หรือความพยายามที่จะเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ
- • ผลกระทบต่อตลาดโลก: อาจทำให้ราคาข้าวโลกลดลง และสร้างความไม่แน่นอนในตลาด
เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมามีข่าวไม่สู้ดีในวงการค้าข้าวโลก เมื่อรัฐบาลอินเดียประกาศกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% ออกสู่ตลาดโลก หลังจากที่ได้ห้ามผู้ส่งออกในประเทศ ส่งออกข้าวขาว ยกเว้นข้าวบาสมาติ มาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 หรือกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลราคาข้าวในประเทศ และดูแลประชาชน โดยผลจากการอนุญาตให้กลับมาส่งออกในครั้งนี้ สร้างแรงกดดันต่อราคาข้าวในตลาดโลกทันที ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ปรับตัวลดลง ทั้งๆ ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงมาก่อนหน้านี้ เดือดร้อนประเทศที่ส่งออกข้าวขาว ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม หรือปากีสถาน
ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียระบุว่า สาเหตุที่อนุญาตให้ผู้ส่งออกกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ เนื่องจากข้าวในสต๊อกมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยสต๊อกข้าวที่บริษัทอาหารแห่งรัฐ (Food Corporation of India) ณ วันที่ 1 ก.ย. 2567 อยู่ที่ 32.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 38.6% ทำให้รัฐบาลมีช่องว่างเพียงพอที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดการส่งออกข้าว อีกทั้งเกษตรกรกำลังเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้มีผลผลิตเข้ามาเติม และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มอุปทานข้าวโดยรวมในตลาดโลก ทำให้ประเทศผู้ซื้อหาซื้อข้าวได้ในราคาที่ถูกลง
อย่างไรก็ตาม ในการอนุมัติให้กลับมาส่งออกข้าวขาว ได้กำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับการส่งออกไว้ที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าราคาที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวขาวรายสำคัญขายออกสู่ตลาดโลก
ผู้ส่งออกอินเดียลุยขายทันที
หลังจากที่รัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกการส่งออกข้าวขาว ผู้ส่งออกอินเดียได้ประกาศที่จะทำการส่งออกข้าวขาวออกสู่ตลาดโลกในทันที โดยมองว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในประเทศ ที่ข้าวเปลือกกำลังออกสู่ตลาด เพราะผู้ส่งออกต้องไปซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาเพื่อทำการส่งออก และยังจะช่วยให้อินเดีย กลับมามีตำแหน่งอันดับหนึ่งในตลาดการค้าข้าวโลกได้ต่อไป และมั่นใจว่าข้าวอินเดียจะแข่งขันกับข้าวของประเทศอื่นๆ ได้
การที่อินเดียกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อราคาของข้าวไทย เวียดนาม และปากีสถาน ที่จะต้องมีการปรับลดราคาลงมาแข่งขันอย่างแน่นอน โดยราคา ณ เดือน ก.ย. 2567 ข้าวไทยอยู่ที่ 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนาม 565-569 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ราคาข้าวไทยรับข่าวดิ่งทันที
เมื่อมีความชัดเจนว่าอินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวขาวแน่ๆ แล้ว ได้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อราคาข้าวขาวของไทยในทันที โดยลดลงจาก 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลงมาเหลือ 509 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือลดลง 11% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2551 และเป็นการลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 15 เดือน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ราคาข้าวทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี หลังจากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว และกำหนดอัตราภาษี 20% สำหรับการส่งออกข้าวนึ่ง เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศก่อนการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม อินเดียไม่เพียงประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมการส่งออก โดยอนุญาตให้กลับมาส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติได้อีกครั้ง หลังจากเพิ่งประกาศลดภาษีการส่งออกข้าวนึ่งเหลือ 10% ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาข้าวล้นตลาดภายในประเทศ และลดต้นทุนการนำเข้าสำหรับประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย และเซเนกัล ลงมาได้
ไทยเสี่ยงถูกแย่งตลาด
ก่อนหน้าที่อินเดียจะห้ามส่งออกข้าวขาว ปกติอินเดียจะส่งออกข้าวขาวประมาณปีละ 5 ล้านตัน โดยในช่วงที่อินเดียหยุดส่งออกข้าวขาว ทำให้ไทยได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านตัน หากอินเดียกลับมาส่งออก ก็จะทำให้การส่งออกข้าวไทยหายไปในส่วนนี้ โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซีย และการส่งออกของอินเดียจะยังกดดันทำให้ราคาตลาดโลกลดลง ซึ่งคาดว่าข้าวขาวไทยมีโอกาสปรับตัวลงประมาณ 30-50 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ไม่เพียงแต่จะมีแรงกดดันต่อการส่งออกข้าวขาวของไทย ที่จะถูกแย่งชิงตลาดจากอินเดีย แต่ในส่วนของไทยเองก็มีปัจจัยกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน
ราคาข้าวเปลือกในประเทศลดลงตาม
ไม่เพียงแต่ราคาข้าวขาวส่งออกที่ปรับตัวลดลง แต่ราคาข้าวเปลือกในประเทศก็ปรับตัวลดลงตามไปด้วย โดยนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย บอกว่ามีความไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว และกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ก็เป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่าราคาข้าวขาวของไทยจะสูงกว่าอินเดียประมาณ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อตัน และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังมีข่าว ราคาข้าวเปลือกเจ้าปรับตัวลดลงมาอย่างมาก ยิ่งข้าวเกี่ยวสดที่ชาวนาขายได้อยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อตัน เทียบเท่ากับสมัยที่ข้าวสารในตลาดโลกอยู่ที่ 370 เหรียญสหรัฐตันเท่านั้น
“ข้อตั้งข้อสังเกตว่าโรงสีและผู้ส่งออกที่ซื้อข้าวจากชาวนาในราคานี้ ต่ำเกินไปหรือไม่ แบบนี้ชาวนาจะเหลืออะไร และขอฝากกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้ามาช่วยดูแลการซื้อขายข้าวเปลือกที่โรงสีและท่าข้าวว่าชาวนาได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อขายหรือไม่” นายปราโมทย์กล่าว
ผู้ส่งออกคาดกระทบราคาข้าวแน่
ทางด้านการส่งออกข้าวขาว 5% ผู้ส่งออกของไทยได้หยุดรอดูสถานการณ์ แม้ว่าจะรู้หรือประเมินมาก่อนล่วงหน้าแล้วว่า อินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวขาวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยได้รอดูราคาตลาดโลกว่าตอบรับกับการกลับมาส่งออกของอินเดียมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า การที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวมีผลกระทบต่อข้าวไทยแน่ ทั้งราคาข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะเดิมก็เหนื่อยอยู่แล้วจากการที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ยาก มีราคาแพงกว่าคู่แข่ง โดยเงินบาทจากต้นปีเฉลี่ยที่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตอนนี้เฉลี่ย 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่ามากสุดในรอบ 30 เดือน ซึ่งส่งผลต่อราคาข้าวที่ขายด้วย เพราะเมื่อผู้ส่งออกต้องสู้ราคา เพื่อให้ขายข้าวได้ ก็ต้องกระทบต่อราคาที่ผู้ส่งออกซื้อจากโรงสี และราคาที่โรงสีซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ที่จะปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด
มีปัจจัยลบกระทบเพียบ
นายชูเกียรติมองว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์นี้จะเป็นช่วง Wait & See เพื่อรอดูว่าการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกลดลงมากน้อยเพียงใด แต่โอกาสราคาข้าวในตลาดจะขยับขึ้นแทบไม่มีเลย ยิ่งอินเดียกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาที่ประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ ถ้าอยากจะแข่งขันได้ก็ต้องปรับลดราคาลงมา แต่ถ้าไม่ปรับลดลง คำสั่งซื้อก็จะวิ่งไปที่อินเดียมากขึ้น
นอกเหนือจากแรงกดดันจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวแล้ว ตลาดข้าวโลกยังได้รับแรงกดดันจากภาพรวมผลผลิตข้าวโลกที่จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะประเทศผู้ผลิตมีน้ำเพียงพอ หลังจากเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา แม้จะทำให้เกิดผลกระทบน้ำท่วม ผลผลิตข้าวเสียหายบ้าง แต่ภาพรวมผลผลิตข้าวของโลกก็จะยังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันต่อราคาข้าวในตลาดโลก และเมื่อผลผลิตเพิ่ม คนซื้อก็จะซื้อลดลง เพราะมีเวลาให้คิด ให้พิจารณาว่าจะซื้อจากใคร
ไม่เพียงแค่นั้น ผลจากการที่อินเดียห้ามการส่งออกข้าวขาวในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และเมียนมา ส่งออกข้าวขาวออกสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น เพราะก่อนที่อินเดียจะห้ามส่งออก อินเดียเคยส่งออกข้าวขาวประมาณปีละ 5-6 ล้านตัน ในส่วนนี้ไทยได้รับอานิสงส์ส่งออกข้าวขาวแทนอินเดียได้ประมาณ 2 ล้านตัน ทำให้ปี 2566 ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 8.7 ล้านตัน และปี 2567 คาดว่าจะส่งออกได้ 8.5-8.7 ล้านตัน หลังจากที่ช่วง 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ส่งออกได้แล้วประมาณ 7 ล้านตัน หากที่เหลือส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 5 แสนตัน ก็จะทำได้ตามเป้า แม้ว่าการส่งออกข้าวขาวจะชะลอตัวลง แต่ก็มีข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ ที่กำลังออกสู่ตลาด มาเป็นตัวช่วยเพิ่มปริมาณส่งออก
ส่งซิกรัฐบาลเตรียมรับมือ
ทั้งนี้ จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวและการส่งออกข้าว ทั้งอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว เงินบาทแข็งค่า และซัปพลายข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มการส่งออกข้าวของไทยในปี 2568 มีความเสี่ยงที่จะส่งออกได้ลดลง อาจจะเหลือเพียงระดับ 6 ล้านตัน และหากส่งออกได้ลดลง ก็จะฉุดราคาข้าวเปลือกในประเทศให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งรัฐบาล จะต้องเตรียมพร้อม และเตรียมมาตรการรับมือราคาข้าวเปลือก
นายชูเกียรติให้เหตุผลประกอบว่า ช่วงที่อินเดียห้ามการส่งออกข้าวขาว และเงินบาทของไทยอ่อนค่าที่ระดับ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2567 ชาวนาเคยขายข้าวเปลือกได้สูงกว่า 10,000 บาทต่อตัน แต่ตอนนี้ เงินบาทแข็งค่ามาก ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ลดลงมาเหลือ 8,500-9,000 บาทต่อตัน และยิ่งมาเจอปัญหาอินเดียกำหนดราคาขายข้าวขาวที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน และมีผลให้ไทยต้องลดราคาขายลงมาแข่ง ถ้าหากเหลือ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อทอนมาเป็นราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกต้องซื้อจากโรงสี จะอยู่ที่ 13-14 บาทต่อกิโลกรัม ราคาข้าวเปลือกที่โรงสีจะซื้อจากชาวนาอาจเหลือประมาณ 6,000 บาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ
“พาณิชย์” ชี้ส่งผลดีมากกว่า
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ออกมาชี้แจงกรณีอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ว่า ถือเป็นผลดีต่อตลาดข้าวโลกและข้าวไทย เพราะราคายังอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับช่วงปกติก่อนที่อินเดียจะประกาศไม่ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติในปี 2566 ที่เฉลี่ย 360-370 เหรียญสหรัฐต่อตัน และจากการติดตามสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศร่วมกับโรงสีและผู้ส่งออก พบว่าผู้ประกอบการมีการจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอินเดียจริง แต่ราคาได้ชะลอตัวลง และกลับมาเป็นปกติแล้ว ไม่ต่ำลงไปมากกว่านี้
ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 9,100-10,000 บาทต่อตัน ข้าวเกี่ยวสด ความชื้น 30% ราคา 7,000-7,750 บาทต่อตัน บางพื้นที่ที่ข้าวประสบปัญหาอุทกภัย จมน้ำ เร่งเก็บเกี่ยว ราคาจะลดลงมาตามคุณภาพ สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียว ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 16,600 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,900 บาทต่อตัน
“กรมการค้าภายในจะได้ติดตามดูแลการซื้อขายข้าวปลือกอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ ตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น หากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขาย หรือพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด มีพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร. 1569 และขอยืนยันว่าผู้ประกอบการรายใดจงใจที่จะทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคา ต้องระวางโทษจ่าคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายวิทยากรกล่าว
เตรียมมาตรการดูแลราคาข้าวเปลือก
สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ฤดูกาลผลิตปี 2567/68 นายวิทยากรกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้เตรียมมาตรการรองรับข้าวเปลือกไว้แล้ว โดยมีมาตรการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเกษตรกร เป็นมาตรการที่สำคัญที่จะช่วยชะลอข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2567 และยังมั่นใจว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 8.2 ล้านตัน ทำให้เป็นแรงสนับสนุนให้มีการซื้อข้าว และทำให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ไม่มีมาตรการ กรมการค้าภายในได้จัดสายตรวจเฉพาะกิจ สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและนายตรวจชั่งตวงวัด ตรวจสอบผู้ประกอบการโรงสีและท่าข้าวในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ เช่น กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี เพื่อดูแลไม่ให้มีการกดราคารับซื้อข้าวเปลือก ดูแลไม่ให้มีการหักลดน้ำหนักความชื้นและสิ่งเจือปนเกินไปกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนด และให้มีการแสดงราคารับซื้ออย่างชัดเจน เปิดเผย ไม่คิดค่าชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกที่รับซื้อ รวมทั้งใช้เครื่องชั่งและเครื่องวัดความชื้นที่ผ่านคำรับรองถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบในช่วงที่ข้าวเปลือกเริ่มออกสู่ตลาด และจะทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกออกมามาก