xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.ย.เพิ่ม 0.61% เจอแรงกดดันจากดีเซล ผักสด สินค้ากลุ่มอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.61%
  • • แรงกดดันจากน้ำมันดีเซล ผักสด สินค้ากลุ่มอาหาร
  • • แก๊สโซฮอล์ เบนซิน เสื้อผ้า ของใช้ส่วนบุคคลลดลง
  • • เงินเฟ้อสะสม 9 เดือน เพิ่ม 0.20%
  • • คาดเงินเฟ้อ ต.ค. และไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น
  • • สาเหตุหลัก: ราคาดีเซลยังสูง ผักสดปรับราคาขึ้น


เงินเฟ้อ ก.ย. 67 เพิ่ม 0.61% ได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดีเซล ผักสด สินค้ากลุ่มอาหาร ปรับตัวสูงขึ้น แต่แก๊สโซฮอล์ เบนซิน เสื้อผ้า ของใช้ส่วนบุคคลลดลง รวม 9 เดือน เพิ่ม 0.20% คาดแนวโน้ม ต.ค.ยังเพิ่ม ไตรมาส 4 ก็เพิ่ม เหตุดีเซลยังสูง ผักสดเจอน้ำท่วม สินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวขยับ เผยแจกเงินหมื่น เพิ่มกำลังซื้อ ดันยอดขาย แต่ราคาสินค้าทรงตัว ปรับเป้าทั้งปีใหม่ 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ย. 2567 เท่ากับ 108.68 เทียบกับ ส.ค. 2567 ลดลง 0.10% เทียบกับเดือน ก.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 0.61% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน และผักสดบางชนิดได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ แต่ราคาแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซินปรับลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.20%

สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 2567 ที่สูงขึ้น 0.61% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.25% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น แยกเป็นกลุ่มอาหารสด เช่น ผักสด (ต้นหอม ผักกาดขาว ผักคะน้า พริกสด ผักชี มะเขือ กะหล่ำปลี) ผลไม้สด (เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม ทุเรียน ฝรั่ง กล้วยหอม) ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นมสด และไข่ไก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (อาหารกลางวัน ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง กับข้าวสำเร็จรูป) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) โดยสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ส้มเขียวหวาน ปลาทู น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม และไก่ย่าง เป็นต้น

ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.55% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) กลุ่มเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษ) และกลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ลิปสติก แป้งผัดหน้า น้ำยาบ้วนปาก) ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันดีเซล ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี เป็นต้น

ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ก.ย. 2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2567 และเพิ่มขึ้น 0.77% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2566 เฉลี่ย 9 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.48%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า คาดการณ์เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 2567 จะอยู่ที่ 1.25% ส่วนทั้งไตรมาส 4 จะอยู่ที่ประมาณ 1.49% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากราคาน้ำมันดีเซลที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 30 บาทต่อลิตร ผลกระทบจากน้ำท่วมในบางพื้นที่ ทำให้ราคาผักสดปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าตั๋วเครื่องบิน ที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง อาทิ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อน โดยขณะนี้เฉลี่ย 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปีก่อนเฉลี่ย 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ต้นทุนสินค้านำเข้าถูกลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูง และผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง หลังภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไปแล้ว

ส่วนผลจากการแจกเงิน 10,000 บาท ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนค.ได้มีการสำรวจร้านค้าที่จำหน่ายข้าวสาร เนื้อสัตว์ ผลไม้ และร้านขายของชำ เป็นต้น พบว่า ยอดจำหน่ายสินค้าภายในร้านเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงิน 10,000 บาท เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางจริง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จากเดิมระหว่าง 0.0-1.0% ค่ากลาง 0.5% เป็นระหว่าง 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5% ภายใต้สมมติฐาน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 2.3-2.8% น้ำมันดิบดูไบ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น