xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติลงทุนไทย 8 เดือน 535 ราย นำเงินเข้ากว่า 1 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • จำนวน: 535 ราย (เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
  • • เงินลงทุน: เกิน 1 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 52%)
  • • แรงงานไทย: จ้างงาน 2,505 คน
  • • ที่มา: ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
  • • ระยะเวลา: 8 เดือนแรกของปี 2567
  • • แหล่งข่าว: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยช่วง 8 เดือน ปี 67 อนุญาตคนต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 535 ราย เพิ่มขึ้น 23% นำเงินเข้ากว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่ม 52% จ้างแรงงานคนไทย 2,505 คน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เปิดเผยว่า ช่วง 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 535 ราย เพิ่มขึ้น 23% โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 392 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2,505 คน ลดลง 44%

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 136 ราย คิดเป็น 25% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการซ่อมแซมหินเจียร ใบหินตัด ใบเลื่อย เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบทำด้วยเพชร ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันสำหรับส่งเสริมการรักษาสุขภาพ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เช่น ผลิตชิ้นส่วนประกอบถุงลมนิรภัย, ชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ชิ้นส่วนยานพาหนะ)

2. สิงคโปร์ 82 ราย คิดเป็น 15% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคสำหรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ เช่น การตรวจสอบ การทดสอบ และการวัด การรับรอง การสอบทาน การออกแบบทางวิศวกรรม การให้คำปรึกษาด้านเทคนิค และการฝึกอบรม เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ธุรกิจบริการติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ธุรกิจจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับสำรวจความคิดเห็นและวิเคราะห์ข้อมูล ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์แยกแสงสัญญาณพีแอลซี)

3. สหรัฐฯ 76 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมในการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคและฝึกอบรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษา การซ่อมแซม การเปลี่ยนอุปกรณ์เสริมและเครื่องยนต์ของเครื่องบินพาณิชย์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาทิ รถสกูตเตอร์ไฟฟ้าและยานพาหนะไฟฟ้า เครื่องมือส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์และยา) ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจในด้านต่าง ๆ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์ / Drum Brake Assembly)

4. จีน 68 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 8,350 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการงานอีเวนต์ แอปพลิเคชันค้นหาและสร้างสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับงานอีเวนต์ เป็นต้น ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ ลูกกลิ้งสำหรับพิมพ์หรืออัดลาย ฟิล์มพลาสติก เครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง)

5. ฮ่องกง 40 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 12,330 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับคุณสมบัติ วิธีการใช้และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทยารักษาโรคและวัคซีนที่ใช้สำหรับสัตว์ ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ Printed Circuit Board Assembly (PCBA) ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อสมัครและติดตามผลการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

“การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะการขุดเจาะวางท่อในแนวราบด้วยวิธีการที่ไม่รบกวนผิวดิน องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตราการความปลอดภัยชีวภาพในระดับฟาร์ม องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของแพตฟอร์มเช่าซื้อ องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้ การตรวจสอบ ติดตั้ง และซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์อัลตราซาวด์ เป็นต้น” นางอรมนกล่าว

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 8 เดือนของปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 163 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 90% และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 32,573 ล้านบาท คิดเป็น 33% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 128% เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 53 ราย ลงทุน 11,749 ล้านบาท จีน 39 ราย ลงทุน 3,901 ล้านบาท ฮ่องกง 15 ราย ลงทุน 5,064 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 56 ราย ลงทุน 11,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ธุรกิจบริการซ่อมแซมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เช่น ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่ออุตสาหกรรม ชิ้นส่วนสำหรับยานพาหนะ ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) ธุรกิจบริการบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ อาทิ การวางแผนจัดหาและจัดซื้อชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 


กำลังโหลดความคิดเห็น