xs
xsm
sm
md
lg

"สุรพงษ์"เยี่ยมชม "สถานีรถไฟกลางโคโลญ"ศึกษาแนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพไฮสปีดไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • นายสุรพงษ์ พร้อมคณะ เดินทางเยี่ยมชม Cologne Cathedral และ Cologne Hauptbahnhof ในเยอรมนี
  • • เป้าหมายการเยี่ยมชมคือเพื่อศึกษาแนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรางไทย
  • • Cologne Hauptbahnhof ถือเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดในยุโรป
  • • การศึกษาแนวทางจากเยอรมนีคาดว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


"สุรพงษ์"และคณะ เยี่ยมชม Cologne Cathedral และสถานีรถไฟกลางโคโลญ (Cologne Hauptbahnhof) หนึ่งในสถานีรถไฟที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ศึกษาแนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรางไทย

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะ ผู้บริหารระดับสูงประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีนายณัฐพงศ์ ลัทธพิพัฒน์ กงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ให้การต้อนรับ ณ สถานี Cologne Messe/Deutz ก่อนที่จะร่วมเยี่ยมชม Cologne Cathedral และสถานีรถไฟกลางโคโลญ (Cologne Hauptbahnhof) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป


การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางบริหารจัดการสถานีรถไฟโคโลญ ซึ่งเป็นสถานีที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ยาวนานของเยอรมนี และได้เยี่ยมชมมหาวิหารโคโลญ (Cologne Cathedral) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่มรดกโลกเพื่อศึกษาแนวทางการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางรางกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเยอรมนี โดยมหาวิหารโคโลญ หรือ Kölner Dom เป็นโบสถ์แบบโกธิคที่ตั้งอยู่ในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย ยูเนสโกในปี 1996 มีระยะทางจากสถานีรถไฟกลางโคโลญ (Cologne Central Station) ไปยังมหาวิหารโคโลญ ประมาณ 46 เมตร โดยใช้เวลาเดินทางเท้าประมาณ 1 นาที


นายสุรพงษ์กล่าวว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นเพื่อการยกระดับระบบรางของประเทศไทย โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างระบบขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนสำหรับประชาชนชาวไทย


ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา ในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟโคโลญ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการผสมผสานระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยจะนำแนวคิดที่ได้รับจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น