- • กทพ.วางแผนเปิดประมูล PPP ปี 68: ร่วมลงทุนกับเอกชนก่อสร้างทางด่วน "ศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท
- • เป้าหมาย: แก้รถติด: เริ่มก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 73 ก่อสร้าง 3 ปี
- • ปรับแบบลดผลกระทบ: กทพ.อยู่ระหว่างสรุปแนวเส้นทางและปรับแบบก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน
- • ชาวบ้านกังวลผลกระทบ: แสดงความกังวลเกี่ยวกับฝุ่น เสียง และปัญหารถติดในบริเวณแนวมอเตอร์เวย์
กทพ.ปักธงปี 68 เปิดประมูล PPP เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างทางด่วน “ศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท เดินหน้าสรุปแนวก่อสร้าง ปรับรูปแบบลดผลกระทบเวนคืน แก้รถติด ก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 73 ด้านชาวบ้านกังวลผลกระทบฝุ่น เสียง ปัญหาจราจรแนวมอเตอร์เวย์
วันที่ 26 กันยายน 2567 นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อประชาสัมพันธ์แนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ รูปแบบตำแหน่งทางยกระดับ จุดเริ่มต้น-จุดสิ้นสุดโครงการ รูปแบบโครงสร้างทางพิเศษ การออกแบบระบบระบายน้ำ รูปแบบและตำแหน่งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและตำแหน่งที่มีผลกระทบการเวนคืน ผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารเจ ดับบลิว ทาวเวอร์
นายกาจผจญกล่าวว่า ที่ผ่านมา กทพ.และที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวทางการศึกษาและขั้นตอนการศึกษาที่สำคัญ รวมทั้งนำเสนอแนวเส้นทางของโครงการพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในการรวบรวมความเห็นและสรุปผลการศึกษา เพื่อนำเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน โดยคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในปี 2567 จากนั้นจะขออนุมัติรายงาน EIA ในปี 2568 และเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562) หรือ PPP และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนในปี 2568-2570 ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ระหว่างปี 2569-2571 ก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2573
โครงการมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 20,710 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้างเบื้องต้น 19,145 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 840 ล้านบาท ค่าออกแบบค่าควบคุมงานและค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างก่อสร้างประมาณ 725 ล้านบาท คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีเปิดให้บริการ (ปี 2573) ประมาณ 68,000 คัน/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 คัน/วันในปีที่ 30 คาดการณ์รายได้ 3,000 ล้านบาท/ปี กำหนดอัตราค่าผ่านทางในปีเปิดให้บริการสำหรับรถยนต์ 4 ล้อที่ 60 บาท รถ 6-10 ล้ออัตรา 90 บาท รถมากกว่า 10 ล้ออัตรา 120 บาท และปรับค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี สำหรับรถยนต์ 4 ล้อปรับขึ้น 5 บาท รถมากกว่า 6 ล้อปรับขึ้น 10 บาท รถมากกว่า 10 ล้อปรับขึ้น 15 บาท
โดยพบว่าผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจของโครงการ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 6,169.75 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 14.35 อัตราส่วนแบ่งผลประโยชน์ต่อทุน (B/C) 1.52 เท่ากำหนด
สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร (กม.) จุดเริ่มต้นเป็นทางยกระดับสองฝั่งแบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้งสองฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เป็นระยะทางประมาณ 8.95 กม. ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็นสองฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า และเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นเส้นทางหลักลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โดยมีการกำหนดจุดเข้า-ออกโครงการทั้งหมด 3 จุด ประกอบด้วย 1. จุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) โดยมีทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง ได้แก่ (1) ทางลง Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบังมุ่งหน้าไปรามคำแหง เพื่อเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (2) ทางขึ้น Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากพัฒนาการมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการในทิศขาออกเมือง (3) ทางลง Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (4) ทางขึ้น Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากรามคำแหงมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการ ในทิศขาออกเมือง
2. ทางเชื่อมเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงสร้างจะแยกออกจากเส้นทางหลัก โดยมีทางเลี้ยวรูปแบบ Semi Directional Ramp ในทิศทางเลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนทิศทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเลี้ยวซ้ายเข้าสู่โครงการไปทางพระราม 9 เป็นทางเลี้ยวรูปแบบ Directional Ramp ซึ่งในบริเวณนี้จะมีการเวนคืนพื้นที่ทั้งสองข้างทาง เพื่อก่อสร้างทางเชื่อมเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
และ 3. จุดสิ้นสุดโครงการ (ตำแหน่งทางขึ้น-ลงลาดกระบัง) เมื่อผ่านจุดเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางจะข้ามทางเข้า-ออก ICD ลาดกระบัง ก่อนจะกดระดับลงพื้น และผ่านด้านข้างของสะพานกลับรถเดิมก่อนจะเข้าเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อปรับทางบริการเดิมให้ขนานกับทางขึ้น-ลงของโครงการ รวมถึงออกแบบทางแยกในการเชื่อมต่อระหว่างทางขึ้น-ลงของโครงการและทางบริการให้ผู้ใช้ทางและประชาชนโดยรอบสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และถนนฉลองกรุง สามารถเข้า-ออกโครงการได้
สำหรับรูปแบบโครงสร้างทางพิเศษจะเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องคู่ชนิดหล่อสำเร็จ โดยตอม่อส่วนใหญ่เป็นเสาเดี่ยววางอยู่บริเวณร่องน้ำระหว่างทางขนานและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ฐานรากโครงสร้างออกแบบเป็น Barrette Pile เพื่อลดขนาดของฐานรากให้อยู่ในบริเวณความกว้างของร่องน้ำ โดยเมื่อพัฒนาโครงการ การระบายน้ำระดับดินจากแนวร่องน้ำเดิมที่มีการวางเสาของโครงการแทนที่ได้ออกแบบให้ใช้รางระบายน้ำตัวยูวางบริเวณด้านข้างของเสาพร้อมทั้งปรับปรุงร่องระบายน้ำเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ และใช้ท่อลอดพร้อมบ่อพัก โดยจะระบายออกตามความเหมาะสมของพื้นที่โครงการ มาลงบ่อพักระบายน้ำเดิมที่อยู่ใต้ทางเท้าหรือติดตั้งใหม่ เพื่อระบายน้ำออกไปยังด้านข้าง และระบายไปยังลำน้ำสาธารณะต่อไป
และใช้รูปแบบของระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่เหมาะสมเป็นแบบระบบเปิด โดยจัดเก็บค่าผ่านทางแบบใช้พนักงาน (Manual Toll Collector System : MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System : ETC) ร่วมกัน โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับบริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า ประกอบด้วยฝั่งขาเข้า (มุ่งหน้าไปพระราม 9) จำนวน 8 ช่องจราจร และฝั่งขาออก (มุ่งหน้าไปลาดกระบัง) จำนวน 7 ช่องจราจร
สำหรับผลกระทบด้านการเวนคืน ที่ปรึกษาได้นำเสนอว่ามีการปรับรูปแบบเพื่อลดพื้นที่เวนคืนให้มากที่สุด เช่น การปรับลดเขตทางลงในบางช่วง โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากเดิม 99 ราย เหลือ 76 ราย ที่ดินจำนวน 143 แปลงเหลือ 111 แปลง สิ่งปลูกสร้าง จาก 76 หลังเหลือ 47 หลัง รวมที่ดินที่ได้รับผลกระทบประมาณ 43,743 ตารางเมตร
อย่างไรก็ตาม ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ กังวลปัญหาในการก่อสร้าง ที่จะสร้างมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองและเสียงดัง รวมถึงการปิดกั้นพื้นที่ สร้างปัญหาจราจร และกระทบการเข้าออกชุมชน